"ภายใต้บริบทของการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของยุทธศาสตร์นี้ จะให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน ประชาชนทุกคน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านแนวทางและมาตรการต่างๆ ที่มุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์ต่อความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3 ประการที่สำคัญ ดังนี้
1. ประการแรก การอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศเพื่อความยั่งยืน
2. ประการที่สอง การฟื้นฟูและพัฒนาฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศบนเส้นทางสีเขียว
3. ประการที่สาม การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม เพื่อให้ไม่เกินขีดความสามารถในการรองรับของระบบ ลดผลกระทบทางลบจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และให้คนในรุ่นต่อไปได้ใช้ประโยชน์ได้ต่อไป
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการปรับกระบวนทัศน์เพื่อสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของคนไทย ให้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับระบบนิเวศอย่างเป็นมิตร ดังนั้น ยุทธศาสตร์ชาติด้านนี้ จะให้ความสำคัญกับการนำไปสู่การเติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ บนแนวคิดประเทศไทยมีการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบ่งออกเป็น 6 ด้าน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1). สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตและเป็นธรรมบนความสมดุลของฐานทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้วยเศรษฐกิจฐานชีวภาพ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มความเป็นธรรมทางสังคม ในขณะเดียวกันก็สามารถลดความเสี่ยงของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาความขาดแคลนของทรัพยากรลงได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า มีเป้าหมายมุ่งสู่สังคมที่มีระดับคุณภาพชีวิตที่สูงและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำพร้อมๆกัน มุ่งเน้นการผลิตและการบริโภคเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ ให้สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพดีขึ้นคนมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความเอื้ออาทร และเสียสละเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม
2). สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตของประเทศจากกิจกรรมทางทะเลที่หลากหลายควบคู่ไปกับการดูแลฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งหมด ภายใต้อำนาจและสิทธิของประเทศที่พึงมี เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม (ลดความเหลื่อมล้ำ) โดยมุ่งเน้นการ ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องทะเลที่ถูกต้องและเพียงพอ เพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจฐานชีวภาพทางทะเล ปรับปรุงและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งระบบ เพิ่มสัดส่วนการการพาณิชยนาวีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3). สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ มุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับปรุงการบริหารจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ และการสร้างขีดความสามารถของประชาชน ในการรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ
4). พัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งเน้นความเป็นเมืองที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีข้อกำหนด รูปแบบ และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับลักษณะการใช้พื้นที่ และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการทำ "เมืองน่าอยู่ ชนบทมั่นคง เกษตรยั่งยืน อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ" โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนผังภูมินิเวศ การพัฒนาเมือง ชนบท พื้นที่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมถึงพื้นที่อนุรักษ์ตามศักยภาพและความเหมาะสมทางภูมินิเวศ พัฒนาพื้นที่ต้นแบบตามผังภูมินิเวศในทุกจังหวัดอย่างยั่งยืน ลดการปลดปล่อยมลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ สงวนรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม แหล่งโบราณคดี มรดกทางสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ พื้นถิ่นและวิถีชีวิตอย่างยั่งยืน
5). พัฒนาความมั่นคงทางน้ำ พลังงาน และเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นพัฒนาระบบจัดการน้ำทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความมั่นคง เพิ่มผลิตผลในเรื่องแหล่งน้ำกินและน้ำใช้ ดูแลภัยจากน้ำ พัฒนาความมั่นคงทางพลังงานอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดที่คำนึงถึงการพัฒนาอย่างเหมาะสม ให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพที่มี และใช้พลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงพัฒนาความมั่นคงการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้เป็นฐานการผลิตอาหารที่มั่นคงและปลอดภัย และเป็นฐานการผลิตที่มีผลิตภาพการผลิตสูง
6). ยกระดับกระบวนทัศน์และมองอนาคตประเทศ มุ่งส่งเสริมคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของคนไทย พัฒนาเครื่องมือและกลไกเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งจัดตั้งและพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขปัญหาและลดความขัดแย้ง
ทั้งนี้ ความสำเร็จของยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 5 นี้ จะต้องมีการกำหนดกลยุทธ์และแผนงานโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในแบบทางตรงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม เพื่อเห็นชอบร่วมกันในการกำหนดกลยุทธ แผนงานและกิจกรรมต่างๆ แนวทางการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ เพื่อการทบทวนยุทธศาสตร์และกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการกำหนดถึงข้อมูล ตัวชี้วัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารในเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับไปดำเนินการ ลดความซ้ำซ้อน และให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลต่างๆ มีความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ
เติบโต สู่คุณภาพชีวิตที่ดี บนฐานสังคมสีเขียวเพื่อคนทั้งมวล
สมดุล โดยคำนึงถึงผลกระทบและปัจจัยสิ่งแวดล้อมรอบด้าน
ยั่งยืน ให้เกิดความเข้มแข็งจากภายในและพึ่งพาตนเองได้
นอกจากนี้ ภายในงานวันอรุณ สรเทศน์ รำลึก ยังได้มีการเสวนาในหัวข้อ "ศาสตร์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาประเทศในยุค 4.0" โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุธา ขาวเธียร รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ชวาลภาฤทธิ์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การพัฒนาของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ผ่านมาเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มุ่งการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และการส่งเสริมการบริโภคของประชากรภายในประเทศให้สูงขึ้น การพัฒนาดังกล่าวจึงเป็นการเร่งรัดให้มีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างรวดเร็ว ทำให้สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก รวมถึงก่อให้เกิดปัญหามลพิษ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น ในปัจจุบัน องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเครื่องมือการจัดการสิ่งแวดล้อม จึงได้ถูกให้ความสำคัญเพื่อรองรับกับปัญหาข้างต้น
การเปลี่ยนแปลง กระบวนการผลิตไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมเป็นกลไกที่เน้นย้ำความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจน แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในยุค 4.0 ที่ต้องอาศัยการรวบรวมและบริหารจัดการข้อมูลต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเครื่องมือ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆได้อย่างแม่นยำ ประกอบการจัดการ การวางแผนนโยบาย แผนพัฒนาและวิจัยรวมทั้งการติดตามตรวจสอบ ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน วิศวกรสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องมีความสามารถในการเรียนรู้ทั้งเชิงลึกในศาสตร์ของตัวเอง และเชิงกว้างเพื่อทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้เป็นวิศวกรสิ่งแวดล้อมที่สามารถสร้างนวัตกรรมและหลีกเลี่ยงการติดกับดักวิศวกรรายได้ปานกลาง พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย
สำหรับมุมมองต่อโมเดลประเทศไทย 4.0 นั้น จะต้องเป็นโมเดลที่มีการพัฒนาที่สมดุล ระหว่างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกลไกการขับเคลื่อนหนึ่งที่สำคัญของประเทศไทย 4.0 คือ Green Growth Engine การสร้างความมั่งคั่งของประเทศไทยในอนาคต จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ วิศวกรสิ่งแวดล้อมจึงมีบทบาทและเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยในยุค 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่อยากเห็น ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2579