ขับเคลื่อนพลังละอ่อนร่วมแก้ปัญหาเมืองน่าน

จันทร์ ๒๙ มกราคม ๒๐๑๘ ๑๕:๐๒
สานพลัง "ละอ่อนน่าน" ร่วมแก้ปัญหาบ้านเกิด ปกป้อง "วัฒนธรรม - ทรัพยากร - การจัดการขยะ และสุขภาพ" ด้วยสำนึกความเป็นพลเมือง ตีฆ้องร้องป่าวปัญหาให้คนเมืองน่านได้ตื่นตัว ในงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสร้างสรรค์ เครือข่ายละอ่อนน่านฮักบ้านเกิดปี 3 หวังคนน่านมองเห็นปัญหาและร่วมกันแก้ไข

ในช่วงบ่ายวันเสาร์ที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ณ วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ต.ม่วงตื้ด อ.ภูเพียง จ.น่าน เยาวชนหลายร้อยคนมารวมตัวกันตั้งแถวขบวนสวยงาม ประดับประดาด้วยตุงประกอบด้วยข้อความบอกเล่าปัญหาเมืองน่าน ข้อความรณรงค์เพื่อให้ตื่นตัว และร่วมใจกันแต่งกายด้วยชุดเมืองน่าน และกลุ่มชาติพันธ์สวยงาม ในขบวนมีฟ้อนรำและตีฆ้องร้องป่าว ขบวนเริ่มจากชุมชนมาจนถึงวัดพระธาตุฯ แห่งนี้ ตลอดสองเส้นทางมีชาวบ้านยืนดูด้วยความสนใจ บรรยากาศภายในงาน เยาวชนได้แสดงศักยภาพของตนเองในการทำโครงการชุมชนผ่านรูปแบบนิทรรศการเล่าเรื่องราว , การแสดงด้านศิลปวัฒนธรรม อาทิ การแสดงตีกลองสะบัดชัย , การแสดงชุดฟ้อนดาบฟ้อนเจิง , การขับซอล่องน่าน , การแสดงชุดระบำฟัดข้าว ,การแสดงชุดรำบำม้ง ฯลฯ และมีกิจกรรมถ่ายทอดการเรียนรู้ของเยาวชนได้อย่างน่าสนใจ โดยมีพระชยานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้งพระอารามหลวง เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยผู้ใหญ่ใจดี ร่วมทั้ง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถานศึกษา นักวิชาการ วัฒนธรรมจังหวัดน่าน ผู้ปกครอง เยาวชน สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

เยาวชนเหล่านี้เป็นเยาวชนที่ผ่านการทำ "โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน" ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ได้เริ่มโครงการในพื้นที่ จ.น่าน ตั้งแต่ปี 2557 พระครูสุจิณนันทกิจ เจ้าคณะอำเภอสันติสุข และหัวหน้าโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน กล่าวว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้ ผ่านการทำโครงการเพื่อชุมชน โดยมีความเชื่อร่วมกันว่า จิตสำนึกพลเมืองสร้างได้จากการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง เพียงแต่เปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้เยาวชน ได้เรียนรู้จากเรื่องจริง ชีวิตจริง และเป็นสิ่งใกล้ตัว ผ่านการคิดเอง ทำเอง ซึ่งจะเป็นการฝังชิปการคิดเป็นระบบและสำนึกพลเมือง รวมถึงการเรียนรู้ผ่านการทำงานสวนกระแส พร้อมทั้งแก้ค่านิยม (จากเรียนให้เก่ง เรียนให้สูง เพื่อเป็นเจ้าคนนายคน คิดถึงตัวเองก่อน มาเป็นการคิดเป็นกระบวนการและสำนึกถึงส่วนรวม) "...เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ทางพี่เลี้ยงจะมีกระบวนการให้เยาวชนได้เรียนรู้ตามขั้นตอนและได้ลงมือทำจริงใช้เวลาประมาณหนึ่งปี ซึ่งจะทำให้เยาวชนสามารถเชื่อมตัวเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการสืบสาน สืบทอด ร่วมดูแล ในฐานะที่เป็นพลเมืองรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเมืองน่าน ท่ามกลางกระแสของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสมดุล การขับเคลื่อนการทำงานของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดน่าน ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ก่อให้ลูกหลานที่เข้าร่วมโครงการเกิดการรู้จักรากเหง้า ชุมชนและเกิดความสำนึกรักบ้านเกิดและมีสำนึกความเป็นพลเมือง"

ตลอด 3 ที่ผ่านมามีกลุ่มเยาวชน เข้าร่วมโครงการจำนวน 90 คน กลุ่มพี่เลี้ยง (โคชให้คำชี้แนะในการทำโครงการ) จำนวน 16 คน ครอบคลุม 11 อำเภอ โดยมีประเด็นขับเคลื่อนคือด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี การจัดการขยะและสุขภาพ / เกษตรสัมมาชีพ เป็นต้น โดยคนในชุมชนองค์กรภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย อบต. ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง ฯลฯ และภายนอกชุมชนคอยเป็นพี่เลี้ยงและเติมเต็มองค์ความรู้และกำลังใจให้แก่เยาวชนในการดำเนินโครงการ

"การดำเนินโครงการ 3 ปีที่ผ่านมา ได้บทเรียนที่ดี โดยมีประเด็นที่ผู้ใหญ่เมืองน่านต้องช่วยกันคิดต่อเพื่อให้การพัฒนาเยาวชนเกิดความยั่งยืน ดังนี้ 1.ทำอย่างไรให้ช่วยกันสร้างเครื่องมือทั้งเก่าและใหม่ ให้เกิดการเสริมสร้างวิธีคิดของเยาวชน 2.ทำอย่างไรให้เยาวชนได้รับความรู้ ทั้งความรู้เก่าที่มีอยู่แล้วและความรู้ใหม่ที่กำลังจะได้รับเข้ามา ได้รับความรู้อย่างมีสติโดยนำความรู้เก่าและใหม่มาผสมผสานกัน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมทางความรู้ทางความคิดขึ้นมา 3.ทำอย่างไรให้เยาวชนได้แบ่งปันข้อมูลข่าวสารและเป็นเครื่องมือได้สร้างตัวตนของตัวเองให้มีคุณค่าในปัจจุบันและอนาคต 4.การสร้างแรงจูงใจให้ลูกหลานรู้จักการวางแผนชีวิต รู้จักการวางแผนครอบครัวตัวเอง ที่สำคัญคือหากไม่วางแผน ปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้กับลูกหลาน วันหน้าก็จะสับสน ที่สำคัญคือการลงมือปฏิบัติ แม้จะทำผิดบ้างถูกบ้าง ดีบ้างไม่ดีบ้าง ต้องเชิญผู้ใหญ่มาช่วยวิเคราะห์สังเคราะห์ นั่นคือเครื่องมือที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา คือภูมิคุ้มกันเมืองน่านทั้งในปัจจุบันและในอนาคต นี่คือภาพของเวทีในวันนี้" พระครูสุจิณนันทกิจ กล่าวสรุป

โครงการในปี 3 มีจำนวน 18 โครงการ สนใจในปัญหาชุมชน 4 ประเด็นได้แก่ "วัฒนธรรม - ทรัพยากร - การจัดการขยะ และสุขภาพ" เยาวชนได้สะท้อนการเรียนรู้ในการทำโครงการผ่านช่วงเล่าขานพลังการเรียนรู้ บอกเล่าคุณค่า ประโยชน์ ที่เกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว ชุมชน และเมืองน่าน และฝากถึงผู้ใหญ่ให้ช่วยกันสนับสนุนพวกตนอีกด้วย

เริ่มที่ประเด็นแรกการจัดการทรัพยากร นางสาวอรสินี นิกรเถื่อน จากโครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านขุนน้ำลาดมาเป็นตัวแทนสะท้อนเรื่องราวการเรียนรู้จากการลงไปทำโครงการในชุมชน "ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ยอมรับความเห็นต่าง การทำโครงการนี้ช่วยทำให้พวกเราเยาวชนเห็นความสำคัญของทรัพยากรทั้งลำน้ำ ดิน ป่า และมาช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรให้คงอยู่คู่กับเมืองน่านต่อไป อยากให้ทุกคนช่วยกันรักษาป่าค่ะ"

ประเด็นนี้มีเยาวชนสนใจ 7 โครงการได้แก่ 1.โครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านน้ำลาด อ.ทุ่งช้าง 2.โครงการหนึ่งเยาวชน หนึ่งชุมชน หนึ่งต้นน้ำ อ.ทุ่งช้าง 3.โครงการ IF YOU DO (ถ้าคุณทำ) อนุรักษ์ลำน้ำมวบ อ.สันติสุข 4.โครงการร้อยป่าไว้ด้วยรัก อ.สันติสุข 5.โครงการบวช ปล่อย ปลูก อ.สองแคว 6.โครงการวัยใสรักษ์น้ำ อ.แม่จริม 7.โครงการเยาวชนบัวใหญ่ร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำแหง อ.นาน้อย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เยาวชนทั้ง 7 โครงการได้เข้าไปสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน ที่ทำให้เห็นคุณค่าและลุกขึ้นมาช่วยแก้ไขปัญหา อาทิ บ้านทุ่งสุน ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ เยาวชนจึงตั้งโครงการหนึ่งเยาวชน หนึ่งชุมชน หนึ่งต้นน้ำ เพื่ออนุรักษ์น้ำให้มีน้ำดื่มน้ำใช้ตลอดทั้งปี เช่นเดียวกับที่ลำน้ำมวบ ที่ไหลผ่านหมู่บ้านหนองใหม่ หมู่บ้านห้วยแฮ้ว หมู่บ้านดอนใหม่ และหมู่บ้านปางช้าง ประสบปัญหาสารเคมีที่ชาวบ้านใช้เจือปนในลำน้ำทำให้ไม่สามารถใช้น้ำได้ จึงเกิดโครงการ IF YOU DO (ถ้าคุณทำ) เพื่อให้ลำน้ำมวบกลับมาใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม

ประเด็นที่เป็นปัญหาระดับโลกอีกประเด็นคือประเด็นสุขภาพ เกษตร สัมมาชีพ เยาวชนก็ให้ความสนใจ มี น.ส.จิดาภา ติละ จากโครงการสานสายใยสมุนไพรคู่ชุมชน เป็นตัวแทนเยาวชนสะท้อนการทำโครงการว่า "พวกเราลงไปหาข้อมูลเกี่ยวกับอาหารและสมุนไพรในชุมชน เพื่อทำให้คนในชุมชนเกิดความตระหนักในเรื่องอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ"

ประเด็นนี้มี 6 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการจิตอาสาวัยใสรวมใจสร้างสุข อ.สองแคว 2.โครงการคอนโดมดแดง อ.เวียงสา 3.โครงการหมอน้อยสมุนไพร อ.เวียงสา 4.โครงการต้นกล้านาทะนุงรักษ์สิ่งแวดล้อมน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง ปี 3 อ.นาหมื่น 5.โครงการสานสายใยสมุนไพรคู่ชุมชน อ.ปัว 6.โครงการลดโซเชียลเพิ่มศักยภาพชุมชน อ.บ่อเกลือ เยาวชนได้เข้าไปสร้างการมีส่วนร่วมและกระตุ้นให้คนในชุมชนได้เห็นคุณค่าของสุขภาพและหันมาดูแลเอาใจใส่คนในชุมชนกันมากขึ้น

และมาที่ประเด็นวัฒนธรรม ที่ทำให้เยาวชนไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง โดยสามเณรสหภูมิ อุตพรม จากโครงการสืบสาน สืบทอด สืบต่อ สามเณรมัคคุเทศก์ สะท้อนการเรียนรู้ ว่า "พวกเราสามเณร เห็นว่ามีวัฒนธรรมหลายอย่างที่กำลังสูญหายไป เช่น การขับซอล่องน่าน การบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งพวกเราสามเณรได้เห็นถึงความสำคัญจึงทำโครงการนี้ขึ้นมา และได้ส่งเสริมให้มีบทเรียนในโรงเรียน และทำเป็นเครือข่ายผู้รู้มาสอนการขับซอ ส่วนเรื่องการทำบายศรีสู่ขวัญก็เช่นเดียวกัน ที่อนุรักษ์โดยมีการสอน ซึ่งงานนี้จะทำให้เยาวชนมีรายได้เลี้ยงชีพได้ด้วย" ประเด็นนี้มี 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสืบสานการขับซอเมืองน่าน อ.เมือง 2.โครงการสืบสานการทำบายศรีสู่ขวัญเมืองน่าน อ.เวียงสา 3.โครงการสืบสาน สืบทอด สืบต่อ สามเณรมัคคุเทศก์ เยาวชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน ครูภูมิปัญญาในเมืองน่าน ในวัฒนธรรมแต่ละด้าน เช่น ด้านประวัติศาสตร์วัดพระธาตุแช่แห้ง ด้านการขับซอเมืองน่าน และการประดิษฐ์การทำบายศรี เพื่อเข้าไปเรียนรู้และร่วมสืบสานสิ่งดีงามของน่านให้อยู่สืบไป

และมาที่ประเด็นสุดท้ายการจัดการขยะ เป็นอีกประเด็นที่เยาวชนเข้ามาใส่ใจปัญหาขยะในบ้านตัวเองและหาแนวทางแก้ไขร่วมกับชุมชน โดยนางสาว เมย์ บัวใหญ่ เป็นตัวแทนสะท้อนสิ่งที่ทำว่า "ชุมชนมีการลักลอบเผาขยะ ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ส่งผลกระทบต่อชุมชน ในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ จึงเกิดโครงการที่เยาวชนช่วยกันเก็บขยะ กวาดถนน คัดแยกขยะ "เราทุกคนจะสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนรักบ้านเกิด เริ่มจากตนเอง เริ่มจากทำให้บ้านตนเองสะอาดก่อนและชุมชนจะสะอาดตามมา" ประเด็นนี้มี 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเยาวชนรุ่นใหม่ ใส่ใจเรื่องขยะ อ.นาน้อย 2.โครงการขยะให้ความรู้ ปี 2 อ.สันติสุข

ที่สำคัญหากเยาวชนมีความรักที่จะร่วมพัฒนาชุมชน แต่ผู้ใหญ่มองไม่เห็นก็กลายเป็นเรื่องสูญเปล่า แต่โครงการนี้มีกระบวนการที่ดึงผู้ใหญ่ในชุมชนเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงและร่วมเรียนรู้ไปกับเยาวชน ในเวทนี้ได้มาร่วมเสวนาในประเด็น "เปิดโอกาสหนุนนำละอ่อนน่านฮักบ้านเกิด" ในบทบาทของหน่วยงานในพื้นที่จ.น่าน สถานศึกษา ผู้นำชุมชน และผู้ปกครอง กับการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เยาวชนไปสู่สำนึกความเป็นพลเมือง เริ่มที่ จุฑารัตน์ ขุลิลัง ผู้ปกครองของน.ส.วิมลศิริ ขุลิลัง เยาวชนในโครงการ สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของลูกสาว หลังทำโครงการมีความรับผิดชอบ มีระเบียบ และใจเย็นขึ้น ชื่นชมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำให้ลูกสาวมีความคิดอ่านที่โตขึ้น "ตอนนี้ตัวเองกับลูกสาวกลายมาเป็นที่ปรึกษาของกันและกันแล้วค่ะ"

ทางด้าน ณรงค์ จิตรแข็ง ผู้ใหญ่บ้านบ้านทุ่งสุน ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน ในฐานะผู้ใหญ่ที่ให้คำปรึกษา เล่าสิ่งที่เด็กทำ ทำให้ตนเองและชุมชนเปลี่ยนแปลง เมื่อ "ปุ๊กกี้" เยาวชนในโครงการ ได้มาจุดประเด็นให้ตนเองได้คิดในการจัดการปัญหาน้ำ "ตอนที่ประชุมหมู่บ้าน ชาวบ้านก็จะถกกันเรื่องปัญหาน้ำไม่พอใช้ ปุ๊กกี้ได้เข้าร่วมประชุมด้วยก็ถามขึ้นมาว่า ทำไมต้องคุยปัญหาเรื่องน้ำทุกครั้งเลย ทำไมเราไม่แก้กัน ทำไมเราต้องรออบต. ทำไมไม่พึ่งพาตนเอง คืนนั้นผมกลับไปนอนไม่หลับ คำถามนี้ทำให้ผมต้องหาทางแก้ไข ในที่สุดก็นำไปสู่การจัดระเบียบการใช้น้ำ" ส่วน มนตรี พรมี ผู้ใหญ่บ้าน จ.น่าน ก็บอกว่าตนเองมีบทบาทในการเข้าไปทำความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงกิจกรรมที่ลูกหลานทำ และเป็นที่ปรึกษาเพราะเห็นประโยชน์จากสิ่งที่เด็กๆ ทำ และสุดท้าย ปัณณพงศ์ ท้าวอาจ ผอ.กศน.จ.น่าน มองว่าเด็กทำกิจกรรมเป็นเรื่องดี เป็นการพัฒนาทักษะเด็กนอกห้องเรียน และเห็นว่าเด็กนอกโรงเรียนไม่เก่งต้องอาศัยเด็กในโรงเรียนมาช่วยกัน "ถ้าเด็กในโรงเรียนและนอกโรงเรียนได้หนุนเสริมกันจะเป็นเรื่องดี" ทั้งหมดนี้ได้เห็นแนวคิดของผู้ใหญ่ที่มองเห็นศักยภาพของเยาวชนเหลือแต่ว่าจะหนุนและส่งไม้ต่อให้เด็กได้ต่อยอดงานของตัวเองต่อไปได้อย่างไร

ทางด้านผู้สนับสนุน ปิยะภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวเสริมหนุนน่านจากการเห็นพลังเยาวขนจากโครงการนี้ว่า "จากผลการดำเนินงาน 3 ปีที่ผ่านมาได้เห็นพลัง และเป็นเรื่องท้าทายประชาสังคมและท่านทั้งหลายในจังหวัดน่าน ว่าท่านจะใช้ศักยภาพของจังหวัดน่านก้าวอย่างไรในสังคมที่วุ่นวาย สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แล้วเยาวชนของเราจะอยู่ได้และนำพาจังหวัดของเราไปสู่ความก้าวหน้าด้วยฐานทุนของเยาวชนของเรา และพี่เลี้ยงมีการพัฒนามาไกลมากจาก 3 ปีที่แล้ว ภูมิใจว่าท่านมีฝีมือจริงๆ ในการพัฒนาเยาวชน ถ้าท่านที่อยู่ในวงการการศึกษาอยากสร้างการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ทักษะสมัยใหม่ เทคโนโลยี ความคิดริเริ่ม มีทักษะในการทำงาน ลองมาคุยกับเขาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากของจริงในที่ทำงาน สถานประกอบการ ชุมชน ถ้าเราจับมือกันทั้งในสถานศึกษา นอกสถานศึกษา และชุมชน การพัฒนาเยาวชนจังหวัดน่านและการพัฒนาจังหวัดของตัวเองไปไกลแน่"

สุดท้ายจิราภา เทพจันตา หรือปุ๊กกี้ ประธานเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ได้ให้สัญญาไว้ว่า "เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า พวกเราพร้อมจะเป็นต้นกล้าที่กำลังจะเติบโตไปพร้อมๆ กับเมืองน่าน"

นี่คือตัวอย่างของกระบวนการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศไทยของจังหวัดน่านนั่นเอง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๔๖ MEDEZE ต้อนรับสถาบันนักลงทุน CSI เยี่ยมชมบริษัท
๑๓:๔๙ บริษัท อินเตอร์ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด รับประกาศนียบัตร เครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ประจำปี 2567
๑๓:๔๓ AJA จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 ผถห. โหวตผ่านทุกวาระ พร้อมเปิดตัวกลยุทธ์ใหม่ รีแบรนด์ AJ EV BIKE สู่
๑๓:๕๑ SCAP ตั้งเป้าระดมทุนโดยการขายหุ้นกู้1,600 ล้านบาท ชูดอกเบี้ยสูงสุด 5.05% ต่อปี ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือที่ BBB เปิดขายวันที่ 31 ม.ค. และ 3-4 ก.พ.
๑๒:๐๐ สกสว. - สวทช. รุกปั้นกลุ่ม ผู้จัดการงานวิจัยและนวัตกรรม หนุนระบบบุคลากร
๑๒:๑๕ HMD ประเทศไทย เปิดแผนธุรกิจปี 68 ย้ำมุ่งพัฒนาสมาร์ทโฟนคุณภาพ ด้วยปรัชญา ใช้งานปลอดภัย ไว้ใจได้ ด้วยราคาเข้าถึงง่าย
๑๑:๑๒ VEHHA Hua Hin คว้า Fitwel มาตรฐานคอนโดระดับโลก ยกระดับคุณภาพชีวิตระยะยาว ต่อยอดจุดแข็งสู่ที่สุดของความครบครัน
๑๑:๐๐ ttb reserve มอบประสบการณ์ใหม่เหนือระดับเพื่อลูกค้าคนสำคัญ
๑๑:๓๙ ศิลปะจักสานหลินซู ภูมิปัญญาโบราณสู่ตลาดโลก
๑๑:๐๐ ฉลองครบ 10 ปี HOUSE OF LITTLEBUNNY กระเป๋าแบรนด์ไทย จากกระต่ายน้อยตัวเล็ก เติบโตสู่ตลาดอินเตอร์ จัดแฟชั่นโชว์ยิ่งใหญ่