นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันการสร้างกลุ่มสตาร์ทอัพ (Start-up) และ SMEs ถือเป็นเป้าหมายหลักที่ภาครัฐและเอกชนมุ่งให้ความสำคัญ โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เป็น "วาระแห่งชาติ" เพราะกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มที่จะก่อให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่จากการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ นำประโยชน์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรม มาเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเอง รวมถึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ของไทยสู่ระดับสากล ซึ่งสอดรับกับแนวการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ความคิดสร้างสรรค์และการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ โดยมีเป้าหมายการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย สู่ "อุตสาหกรรม 4.0"
กสอ. จึงได้ร่วมกับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาระบบการเรียนรู้และหลักสูตรฝึกอบรมการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมถึงการเสริมสร้างความรู้และศักยภาพความเข้มแข็ง ด้วยการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-curve ภายใต้กิจกรรม "DIP SME Academy" และระบบการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ ผลักดันแนวคิดการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-Curve ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพต่อยอดธุรกิจเพื่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในยุคเศรษฐกิจ 4.0 และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เริ่มต้นธุรกิจอย่างเป็นระบบให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทั้งกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเน้นการอบรมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาทักษะและองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีประสบการณ์ตรงในการดำเนินธุรกิจ ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้เริ่มต้นธุรกิจที่สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลาผ่านระบบ E-Learning ทาง www.DIP-SME-acadmy.com ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดในการเริ่มต้นธุรกิจหรือพัฒนาธุรกิจยุคใหม่ในโลกดิจิทัล
สำหรับโครงการ DIP SME Academy เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้อย่างเป็นระบบผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ วิสาหกิจที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อสร้างและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายที่เป็นระบบทันสมัย เพิ่มมากขึ้น โดยมีเนื้อหาครอบคลุมองค์ความรู้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจัดตั้งหรือขยายธุรกิจ ซึ่งภายใต้โครงการดังกล่าวประกอบด้วย กิจกรรมการฝึกอบรมในระบบ E-Learning จำนวน 5 หมวด ซึ่งมีหัวข้อวิชาย่อย 50 เรื่อง ที่จะถูกถ่ายทอดด้วยวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ความรู้และหลักการธุรกิจที่เป็นประโยชน์ กับผู้ประกอบการ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้มีผู้ลงทะเบียนและเข้ามาเรียนรู้บทเรียนต่าง ๆ ผ่านระบบ E-Learning กว่า 13,000 ราย การจัดทำคลังความรู้เสริมเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ การจัดทำวิดีทัศน์ที่จะเป็นการถ่ายทอดความรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนกิจกรรมต่อยอดทางธุรกิจหลังเข้าเรียน อาทิ โมเดลธุรกิจ (BMC) กิจกรรม Pitching การเสริมสร้างโอกาสเพื่อให้เกิด Business Matching หรือ Business Fund ซึ่งก่อให้เกิดผู้ประกอบการใหม่และเกิดการ จัดตั้งธุรกิจใหม่ (Start up) ขึ้น และนอกจากนี้ผู้ที่ผ่านการเรียนรู้จะสามารถนำวิชาการความรู้ที่ได้จากระบบ E-Learning ไปใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ อีกทั้งช่วยเผยแพร่ประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียนรู้ในกิจกรรมดังกล่าวไปยังผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจทั่วไป ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้าในอนาคต
ทั้งนี้ กสอ. มุ่งหวังที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยการเร่งผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการและธุรกิจรูปแบบใหม่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ให้กับกลุ่มบุคคลที่สนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีศักยภาพในการสร้างธุรกิจที่เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถต่อยอดทำธุรกิจให้ก้าวหน้าต่อไป" นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาระบบการเรียนรู้และหลักสูตรฝึกอบรมการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ DIP SME Academy ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาและสนับสนุนการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้กับผู้สนใจประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงการเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมด้านการประกอบการในยุคดิจิทัล โดยหวังว่ากิจกรรม DIP SME Academy จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านความรู้และกระตุ้นให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ที่มีศักยภาพ ให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้พัฒนา มั่นคง อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์ Co-Founder บริษัท เซ็ท โรบอท จำกัด ดร.เฉลิมรัฐ นาควิเชียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มโอ-แซด คอม เน็ตดีไซน์ โฮลดิ้ง จำกัด และ ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านต่างประเทศของประธานรัฐสภา มาร่วมเสวนาถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์ ในหัวข้อ "เศรษฐกิจดิจิทัลกับการขับเคลื่อนประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่" ในฐานะวิทยากรในครั้งนี้ด้วย