นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ทุกภาคส่วนได้เผชิญกับปัญหาหมอกควันที่นับวันจะทวีความรุนแรง ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ของทุกปี ซึ่งสาเหตุสำคัญ อันเนื่องมาจากการเผาป่าและการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา เพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรรอบใหม่ ก่อให้เกิดหมอกควันและฝุ่นละอองต่างๆ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งการใช้วิธีไถกลบตอซังพืชแทนการเผาทำลายทิ้ง เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและเป็นการรณรงค์ของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการให้เกษตรกรใช้วิธีไถกลบตอซังพืชหรือเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วลงไปในดิน เพื่อให้ย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุอยู่ในดิน ช่วยเพิ่มธาตุอาหารพืชและปรับปรุงบำรุงดินให้โปร่งร่วนซุยและมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะช่วงเตรียมดินปลูกพืชรอบใหม่
จึงให้สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดและหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในพื้นที่ จัดโครงการรณรงค์ไถกลบตอซังพืช ทดแทนการเผาเพื่อช่วยลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ทางการเกษตร โดยการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ให้เกษตรกรให้รับรู้ถึงโทษและพิษภัยที่เกิดขึ้นจากการเผาตอซังพืชในพื้นที่การเกษตร ทำให้สภาพดินแห้งแข็ง เกิดความเสื่อมโทรม สิ่งมีชีวิตเล็กๆ และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืชในดินจะตายหมด ทำให้ปลูกพืชไม่ได้ผลผลิตที่ดี และแนะนำให้รับรู้ถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้วิธีไถกลบตอซังพืชลงดินว่า จะช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างของดินให้โปร่ง ร่วนซุย สภาพดินจะมีความอุดมสมบูรณ์ มีความเหมาะสมต่อการปลูกพืช เป็นการช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืชลงในดิน โดยให้ใช้ร่วมกับน้ำหมักชีวภาพที่ได้จากการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. ๒ ช่วยในการหมักย่อยสลายตอซังพืช ทำให้ตอซังอ่อนนุ่มย่อยสลายได้ง่าย ทำให้ไถกลบตอซังพืชได้สะดวกขึ้น ช่วงที่ทำการเตรียมดินปลูกพืชรอบใหม่จะมีต้นทุนต่ำ รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มเติมอินทรียวัตถุในดินอย่างสม่ำเสมอโดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. ๑ ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อไว้ใช้เอง ช่วยลดต้นทุนการผลิต ซึ่งข้อดีของการเพิ่มเติมอินทรียวัตถุอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี มีการหมุนเวียนของธาตุอาหารพืชทั้งธาตุอาหารหลัก อาหารรอง ในช่วงหน้าแล้งอินทรียวัตถุในดินจะเป็นตัวช่วยกักเก็บรักษาความ ชุ่มชื่นในดินได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย สำหรับขายสร้างรายได้แก่ครอบครัว สิ่งสุดท้ายที่สำคัญคือต้องการให้เกษตรกรทุกพื้นที่ เลิกทำการเผาทำลายตอซังพืชอย่างเด็ดขาด และให้ใช้วิธีไถกลบลงดินแทนอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม
ดังนั้นเพื่อให้เกิดการทำงานเชิงรุก จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง องค์กรเอกชน ประชาชน ชุมชนเกษตรกร และเกษตรกร ต้องให้การสนับสนุนร่วมมือร่วมใจในการช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจ ต้องปรับเปลี่ยนความคิดและทัศนคติ โดยเลิกพฤติกรรมการเผาตอซังพืชในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่โล่งเตียนอย่างเด็ดขาด เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษที่เกิดจากหมอกควันไฟ ลดปัญหาภาวะโลกร้อน และมีการร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดเครือข่ายเลิกเผาตอซังพืชในพื้นที่ต่างๆ อย่างกว้างขวางต่อไป ..... อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวในท้ายที่สุด