นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนธันวาคม 2560 มีการขยายตัวร้อยละ 2.35 โดยภาพรวมทั้งปีขยายตัวจากปีก่อน ร้อยละ 1.58 เช่นเดียวกันกับการส่งออกประจำเดือนธันวาคม 2560 ที่มีการขยายตัวถึงร้อยละ 11.0 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกประจำเดือนธันวาคม 2560 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ น้ำมันพืช น้ำมันปิโตรเลียม
สินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่
ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากยางแผ่นเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้มีน้ำยางออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก (ปีก่อนมีปัญหาน้ำท่วมบางพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้) ประกอบกับราคายางตกต่ำทำให้จีนเร่งนำเข้ายางแผ่นจากไทย
รถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรถปิคอัพและรถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 1800 cc. เป็นหลัก กำลังซื้อที่เริ่มมีมากขึ้นรวมถึงกำลังซื้อของลูกค้าในกลุ่มรถยนต์คันแรกที่ปลดล็อคแล้ว และผู้ผลิตกระตุ้นตลาดด้วยการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายรถยนต์ในประเทศขยายตัวร้อยละ 28.55 ส่วนปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.21
เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเครื่องยนต์แก๊สโซลีน และเครื่องยนต์ดีเซล ตามการผลิตรถยนต์ในประเทศที่ขยายตัวเพื่อรองรับงาน Motor Expo (30 พ.ย.60-11 ธ.ค.60) โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณการจำหน่ายในประเทศ ซึ่งยังคงเป็นที่นิยมต่อเนื่องจากการปรับโฉมใหม่ และปริมาณการส่งออก จากลูกค้าในกลุ่มประเทศ AEC และประเทศออสเตรเลีย
น้ำมันพืช ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันปาล์มดิบเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้ผลผลิตปาล์มมีจำนวนมากกว่าปกติส่งผลให้การผลิตและสต็อกน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ต้องเร่งส่งออกน้ำมันปาล์มดิบโดยส่งไปที่อินเดียและจีน เป็นหลัก
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 เป็นหลัก ตามความต้องการของตลาดที่มากขึ้น รองลงมาคือแนฟทา ที่ผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของโรงกลั่น (ผลิตใช้เองในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี)
แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรม สาขาสำคัญ ไตรมาส 1 ปี 2561 ได้แก่
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.7 เนื่องจากความต้องการสินค้าไก่แปรรูป และไก่สดแช่เย็น แช่แข็งเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมรถยนต์ แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2561 คาดว่า จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 500,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.97
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ เครื่องซักผ้า และสายไฟฟ้า จากการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกเพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และ IC ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 1 ปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคาดการณ์ว่าเหล็กทรงยาวซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหลัก จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอจะขยายตัวร้อยละ 0.87 ผ้าผืนขยายตัวร้อยละ 5.12 และเสื้อผ้าสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 6.28 ตามทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้า เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกเส้นใย และผ้าผืน ไปยังตลาด CLMV