นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี ๒๕๖๑ ตามที่กระทรวงแรงงานได้เสนอ
ซึ่งผลการพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (ชุดที่ ๑๙) เมื่อวันที่
17 มกราคม 2561 โดยปรับขึ้นค่าจ้างทุกจังหวัด ตั้งแต่ 5 – 22 บาท ถือว่าสูงที่สุดในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 7 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1) ค่าจ้าง 308 บาท มี 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ระดับที่ 2) ค่าจ้าง 310 บาท มี 22 จังหวัด คือ สิงห์บุรี นครศรีธรรมราช ตรัง แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ศรีสะเกษ ตาก ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ ราชบุรี ระนอง มหาสารคาม ชุมพร หนองบัวลำภู สตูล
ระดับที่ 3) ค่าจ้าง 315 บาท มี 21 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยโสธร พะเยา
บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี อ่างทอง
ระดับที่ 4) ค่าจ้าง 318 บาท มี 7 จังหวัด คือ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี
ระดับที่ 5) ค่าจ้าง 320 บาท มี 14 จังหวัด คือ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา พังงา
ระดับที่ 6) ค่าจ้าง 325 บาท มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา
และระดับที่ 7) ค่าจ้าง 330 บาท มี 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้มีค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 316 บาทต่อวัน
นอกจากนี้ ครม. ยังได้เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบ โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ดำเนินการตามมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
โดยกระทรวงการคลังได้มีมาตรการด้านภาษี ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี มีการจ้างแรงงานไม่เกิน ๒๐๐ คน และอัตราค่าจ้างที่จ่ายจะต้องสูงกว่าอัตราค่าจ้างรายวันเดิม ให้สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการจ้างแรงงานทั้งหมดมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.15 เท่า จากเดิมสามารถหักลดหย่อนได้ 1 เท่า มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 31 ธันวาคม 2561 สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีมาตรการ
เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อให้เอสเอ็มอีมีประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้นและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ถึงเดือนกันยายน 2563 โดยจะตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา รวมถึงสถาบันการเงิน เพื่อกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการก่อนเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีทั่วไปที่ต้องการเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพ รวม 4,000 กิจการ / 20,000 คน และกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพสูงและต้องการเพิ่มผลิตภาพ รวม 1,000 กิจการ / 5,000 คน และในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ นั้น มีมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรตามประกาศของบีโอไอ ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ระยะ 3 ปี รวมถึงการปรับปรุงมาตรการให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อพัฒนาความสามารถจากการแข่งขันเดิมของปี 2557
ซึ่งขยายให้ครอบคลุมการอบรมบุคลากรให้มีทักษะที่สูงขึ้น และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 200 ของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เป็นต้น
"จากการให้ความเห็นของกลุ่มต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ลูกจ้าง และนักวิชาการ เช่น นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน ดร.บวรนันท์ กองกัลยา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย นายยงยุทธ แฉล้มวงศ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน และศูนย์วิจัยกสิกรไทย เป็นต้น ต่างเห็นว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จะเป็นการช่วยให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวในระบบเศรษฐกิจของประเทศ" นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด