นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงว่า ประเทศไทยมีการดำเนินมาตรการควบปริมาณการส่งออก (AETS) ครั้งที่ 5 ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2561 โดยมีการนำเอา พ.ร.บ. ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 เข้ามากำกับและดูแลการดำเนินมาตรการดังกล่าวซึ่งเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงของสภาไตรภาคียางให้เกิดความชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการนำกฎหมายในประเทศและระเบียบที่เกี่ยวข้องมาใช้อย่างจริงจัง ได้แก่ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดปริมาณจัดสรรเนื้อยางสำหรับการส่งออก พ.ศ. 2561 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ทั้งนี้ ยังมีการกำหนดนโยบายที่สามารถสนับสนุนการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น เช่น โครงการส่งเสริมการใช้ยางของภาครัฐ การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่งผลต่อการปรับราคายางไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ดร. ไคริล อันวาร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRCO) กล่าวว่า ประเทศสมาชิกอีก 2 ประเทศต่างดำเนินมาตรการ AETS อย่างจริงจัง โดยมีกฎหมายของแต่ละประเทศเข้ามาควบคุมด้วยเช่นกัน เช่น ประเทศมาเลเซียนำ พ.ร.บ. เสถียรภาพราคายาง (Rubber Price Stabilisation Act) มาใช้ในการควบคุม และประเทศอินโดนีเซียนำพระราชกฤษฎีกาของกระทรวงการค้า (Trade Ministerial Decree) มาใช้ควบคุมปริมาณยางตามแผนการดำเนินมาตรการนี้ นอกจากนี้ สภาไตรภาคียางได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศสมาชิก เพื่อติดตาม ประเมิลผล และสรุปผลการดำเนินงานเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีของทั้ง 3 ประเทศ เป็นประจำทุกเดือน
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า หลังจากเริ่มนำมาตราการ AETS มาใช้พบว่า วันนี้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ย (DCP: Daily Composite Price) ในเดือนพฤศจิกายน (ก่อนเริ่มมาตรการ AETS) เกือบ 15 เปอร์เซนต์ โดยที่ราคายางเฉลี่ยก่อนหน้านี้ อยู่ที่ประมาณ 140 US Cent ต่อ กิโลกรัม มาอยู่ที่ราคาเฉลี่ย 153-155 US Cent ต่อกิโลกรัม ณ วันนี้ จึงเป็นข้อมูลหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าว จะส่งผลดีต่อราคายาง และความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้งจะช่วยให้ราคายางมีเสถียรภาพยิ่งขึ้นในอนาคต