ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า หลังจากคณะอนุกรรมการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2560 เห็นชอบการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Co-Lab) ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการดำเนินงานขับเคลื่อนสถาบันไอโอที (IoT Institute) ระยะแรก ระหว่างการจัดเตรียมออกแบบและก่อสร้างสถาบันไอโอทีในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลประเทศไทย (Digital Park Thailand) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล พัฒนาเครื่องมือด้านไอโอที และระบบอัจฉริยะสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ตลอดจนการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยีดิจิทัล แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ทำธุรกิจด้านไอโอที เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีด้านไอโอทีไปประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจ รวมถึงให้คำปรึกษาและจับคู่ธุรกิจระหว่างภาคธุรกิจและกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ (Startup) หรือ SMEs ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ในการพัฒนาระบบ IoT เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล กระตุ้นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ นั้น
ล่าสุด กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดตั้งสถาบันไอโอที (IoT Institute) ในพื่นที่ Digital Park Thailand เชิญภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือแผนปฏิบัติงานการจัดตั้งศูนย์บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Co-Lab) ในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานพันธมิตรที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมสำคัญของศูนย์บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลได้มีการหารือการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของประเทศ รวมทั้งเพื่อความร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนาและการใช้งานไอโอทีให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยมีตัวแทนจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมฯ หลายบริษัทอาทิ Ikigai Academy, IBM, Celestica, Cisco, Amazon, Microsoft, Alicloud, AIS, Nokia, True Corporation และ VISTEC เป็นต้น
ทั้งนี้ IoT (Internet of Things) หรือ อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง เป็นคำที่เรียกขานครั้งแรกโดย Mr.Kevin Ashton ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีใหม่ๆ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Auto-ID Center ที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ในปี ค.ศ. 1999 โดยพื้นฐานของ IoT นั้นได้ถูกพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) ซึ่งเป็นระบบที่นำเอาคลื่นวิทยุมาใช้ในการสื่อสารข้อมูลระหว่างอุปกรณ์สองชนิดแบบ ไร้สาย โดยเทคโนโลยีต่างๆ ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้ IoT สามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์ในการสื่อสารผ่านเครือข่ายถึงกัน ทั้งบนเทคโนโลยีของ LoRaWan และ NB-IoT ซึ่งเทคโนโลยี IoT จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 โดยเป็นแหล่งที่มาสำคัญของข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนวางแผนธุรกิจ การแก้ไขปัญหาปัจจุบันภาครัฐและเอกชน การวางแผนอนาคตของประเทศ และเป็นฐานในการนำไปสู่นวัตกรรมและบริการใหม่อีกมากมาย