นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าเกษตรอินทรีย์กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ผู้คนหันมาดูแลรักษาสุขภาพเป็นจำนวนมาก กรมส่งเสริมการเกษตรจึงจัดทำโครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ขึ้น สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ที่เน้นเพิ่มพื้นที่ ปริมาณการผลิต และมูลค่าผลผลิต ตลอดจนผลักดันให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ระบบการผลิตจนถึงการตลาดตามนโยบายของรัฐบาล สามารถผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ไปสู่ผู้บริโภคได้
โดยในปี 2561 กรมส่งเสริมการเกษตรวางแผนพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้เกษตรอินทรีย์ในเชิงลึก เพื่อเป็นวิทยากรหลักในการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งให้ความรู้เรื่องการเข้าสู่ระยะปรับเปลี่ยนและการรับรองตามระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกรทั่วประเทศกว่า 5,000 ราย
ทั้งเกษตรกรที่ปลูกพืชผัก พืชสวน และพืชไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่บูรณาการบริหารจัดการสินค้าเกษตรในแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) พื้นที่ 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรดั้งเดิม สามารถปลูกต้นหอมและกระเทียมหลังฤดูทำนาได้ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลวังขนาย เป็นตลาดรับผลผลิตอ้อยของเกษตรกรได้อย่างดี เพื่อวางแผนผลิตน้ำตาลอินทรีย์ และจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นจังหวัดที่ขับเคลื่อนเกษตรสีเขียว โดยมีผลิตภัณฑ์เด่นคือข้าวสังฆ์หยด รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรในจังหวัดยโสธร (ยโสธรโมเดล) เพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายเกิดความเข้มแข็งมากขึ้น ลดต้นทุนการผลิต มีศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ สินค้ามีคุณภาพตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมีตลาดหรือช่องทางจำหน่ายผลผลิตมากขึ้น
รองอธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่รวมถึงเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายในเบื้องต้นแล้ว เพื่อขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์สู่เป้าหมายที่วางไว้คือ เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตรและกรมการข้าว ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังสนับสนุนปัจจัยการผลิตและควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี เช่น เชื้อบิวเวอร์เรีย เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ตัวห้ำ และตัวเบียน ให้แก่เกษตรกรด้วย มีเจ้าหน้าที่ของกรมคอยติดตามและประเมินแปลงอย่างใกล้ชิด พร้อมส่งเสริมกิจกรรมการแปรรูป จัดการผลผลิต และเชื่อมโยงสู่การตลาดอย่างกว้างขวางต่อไป