ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2561 กนอ. ได้มีนโยบายจัดตั้งโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : นิคมอุตสาหกรรม Smart Park ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยจุดเด่นของนิคมอุตสาหกรรม Smart Park เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่รองรับการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีอันทันสมัยโดยมุ่งเน้นบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเพื่อให้เกิดการร่วมผลิตและสร้างสรรค์นวัตกรรม ระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และระบบดิจิทัลในเชิงพาณิชย์ให้กระจายไปถึงทุกภาคส่วน นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของนิคมฯ Smart Park ยังถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแนวใหม่ที่จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักลงทุน และบุคคลทั่วไป โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบและวางผังพื้นที่ การติดตั้งระบบความปลอดภัย การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ดีที่สุดและศูนย์รวม Data Center ที่ใหญ่ที่สุดสำหรับนักลงทุน รวมถึงระบบคมนาคม การสื่อสาร สิ่งอำนวยความสะดวกภายใต้แนวคิดนิคมฯ 4.0 สำหรับ EEC (Industrial Estate 4.0 for EEC) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่านิคมฯแห่งนี้จะเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่ดีที่สุดทั้งในประเทศและแถบภูมิภาคอาเซียน
ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้ามาตั้งภายในพื้นที่โครงการได้นั้น จะพิจารณาจาก 3 หลักเกณฑ์ คือ 1) นโยบายภาครัฐ ซึ่งจะต้องเป็นนโยบายที่มีการส่งเสริมจากหน่วยงานต่างๆของรัฐบาล 2)มูลค่าการลงทุน โดยเป็นมูลค่าการลงทุนของธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆที่มีอยู่ในพื้นที่ และ 3) การนำเข้าส่งออก ต้องเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกิจการต่างๆที่มีการนำเข้าส่งออกบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ทั้งนี้ ยังจะพิจารณาจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะเกิดการลงทุนในพื้นที่ EEC ในระยะ 5 ปีแรก (2560 – 2564 ) ตามที่รัฐบาลคาดหวัง ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีฐานการผลิตเดิมอยู่แล้ว หรือมีศักยภาพในการพัฒนาสูง เนื่องจากผู้ประกอบการและนักลงทุนสามารถพัฒนาต่อยอดการผลิตได้ง่าย รวมทั้งแรงงานมีความรู้ความเชี่ยวชาญพื้นฐานในการผลิตเป็นทุนเดิม โดยจะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปพัฒนาและปรับโครงสร้างให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า ซึ่งประกอบด้วย 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่
- อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยต่อยอดจากธุรกิจการแพทย์เดิมที่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ผสมผสานกับการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์จากพื้นฐานด้านการเกษตรและเคมีชีวภาพ
- อุตสาหกรรมวิจัยและพัฒนา มุ่งเน้นการวิจัยด้านเวชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ขั้นสูง การต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ที่สิทธิบัตรหมดอายุคุ้มครอง เพื่อให้สามารถจำหน่ายไปยังต่างประเทศและให้คนไทยได้เข้าถึงสิ่งประดิษฐ์ที่ทันสมัยในราคาถูก
- อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การบิน และอวกาศ ได้แก่ การขนส่งและบริการเพื่อการขนส่ง การบริการและซ่อมชิ้นส่วนบำรุงอากาศยาน อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ระบบนำทางและซอฟต์แวร์ต่างๆ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และจักรกล ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้วิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติตามสายการผลิตมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงหุ่นยนต์ด้านการแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคต
- อุตสาหกรรมดิจัลเทคโนโลยีอินเทอร์เนต เชื่อมต่อปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ ซอฟท์แวร์ที่ฝังตัวอยู่ในระบบหรือในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางประเภท ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ระบบความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ธุรกิจด้าน IOT สื่อและอนิเมชั่นสร้างสรรค์ เป็นต้น
ขณะที่ นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กนอ. ได้แบ่งพื้นที่นิคมฯ Smart Park ให้มีลักษณะเป็นกลุ่มในรูปแบบคลัสเตอร์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและต่อเนื่องในการเชื่อมโยงธุรกิจและอุตสาหกรรม และยังได้ออกแบบพื้นที่ให้สอดคล้องกับความเป็นเมืองอัจฉริยะ ที่ระบบต่างๆจะต้องมีการทำงานอย่างชาญฉลาด ประกอบด้วย 1.ที่ตั้งอัจฉริยะ 2.ธุรกิจอัจฉริยะและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 3.อาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4.ระบบความปลอดภัยขั้นสูง 5.สังคมและชุมชนที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทุกรูปแบบ 6.การคมนาคมที่ใช้พลังงานสะอาด 7.การเชื่อมโยงทุกสิ่งสู่ระบบอินเทอร์เน็ต (Smart I.o.T) 8.ระบบสาธารณูปโภคและการบริหารจัดการแบบอัจฉริยะ และ 9.เมืองสีเขียวที่ผ่านการควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม น้ำเสีย กากขยะอุตสาหกรรม คุณภาพอากาศ ซึ่งระบบสาธารณูปโภคและระบบสื่อสารภายในโครงการจะผ่านระบบอุโมงค์ลอดใต้เส้นทางหลัก (ใต้ดิน) ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กนอ. ได้ประสานความร่วมมือในการดำเนินงานพัฒนาโครงการนิคมฯ Smart Park ร่วมกับหน่วยงานรัฐวิสากิจ และภาคเอกชนประกอบไปด้วย บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด ซึ่งจะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการด้านโลจิสติกส์เพื่อจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า(Rayong International Distribution Center – RIDC) โดยใช้พื้นที่ในโครงการดังกล่าวเพื่อรองรับการขยายธุรกิจรวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบริษัท บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ดำเนินการพัฒนาโครงการบริหารจัดการความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเทคโนโลยีพลังงานสะอาด การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะผ่านระบบ Single Platform ด้วยเทคโนโลยี Block Chain ที่ทันสมัย ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิตและจ่ายความเย็นแบบรวมศูนย์ให้สอดคล้องกับพื้นที่และสภาพแวดล้อมของโครงการ
บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ดำเนินการศึกษาสนับสนุนการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค และร่วมกันออกแบบระบบสาธารณูปโภคให้เหมาะสมต่ออุตสาหกรรมของโครงการฯ บริษัท บางกอก อินดัสเทรียล แก๊ส จำกัด ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ทางด้านก๊าซอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินการทางด้านอุตสาหกรรมในยุค 4.0 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านประสิทธิภาพการผลิต การอนุรักษ์พลังงาน และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมพัฒนาโครงการระบบขนส่งภายในพื้นที่โครงการ สถานีบริการ สถานีซ่อมบำรุง การให้บริการการเข้าออกระบบขนส่ง ส่วนบริการต่อเนื่องในระบบขนส่งภายใน พื้นที่พาณิชยกรรมต่อเนื่องในระบบขนส่งภายในศูนย์การประชุมที่ทันสมัย และจะใช้โครงการเป็นต้นแบบในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไปในอนาคต และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะให้การสนับสนุนและการส่งเสริมนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนประกอบกิจการในพื้นที่ของโครงการฯ นายวีรพงศ์ กล่าวปิดท้าย
โดยเมื่อเร็วๆนี้ กนอ.ได้จัดให้มีพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก: นิคมอุตสาหกรรม Smart Park ณ ห้องกมลทิพย์ 2 โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ