นายทองคำ เชิงกลัด ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 11 นครสวรรค์ กล่าวถึงกรณีที่จะมีโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ เกิดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการใหญ่ระดับประเทศเช่นนี้ใช้จังหวัดนครสวรรค์เป็นพื้นที่ต้นแบบและเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยในพื้นที่ก็ได้ร่วมสนันสนุนอย่างเต็มที่รวมทั้งการทำหนังสือไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องว่าเกษตรกรต้องการให้โครงการไบโอฮับ หรือไบโอคอมเพล็กซ์มาตั้งบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ เพราะจะสะดวกในการขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการสร้างผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นโดยไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณอ้อยที่ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม
"ถ้ามีโรงงานผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบเกิดขึ้นในพื้นที่ ชาวไร่อ้อยจะมีรายได้มากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะมีตลาดรองรับการซื้ออ้อยเพิ่มขึ้น การระบายอ้อยออกจากแปลงก็เป็นไปอย่างคล่องตัว ไม่มีปัญหาอ้อยค้างไร่ และได้อ้อยที่มีคุณภาพ ส่งผลดีต่อเนื่องไปถึงการจัดการระบบโลจิสติกส์ การขนส่งต่างๆ ก็จะดีขึ้น การจัดการไร่ของชาวไร่อ้อยก็ดีขึ้น บำรุงตอได้เร็วขึ้น มีการสร้างงานให้กับคนในชุมชน คนในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น และไม่ขึ้นอยู่กับฤดูการผลิตเหมือนในอดีต สามารถผลิตได้ตลอดทั้งปี เศรษฐกิจในพื้นที่ก็จะดีตามไปด้วย" นายทองคำกล่าว
นายกสมาคมชาวไร่อ้อย กล่าวด้วยว่า จังหวัดนครสวรรค์มีความพร้อมทุกด้าน ซึ่งนอกจากพื้นที่ปลูกอ้อยหลายแสนไร่แล้ว ยังมีโรงงานขนาดใหญ่อย่างกลุ่มบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกลุ่ม KTIS ยังมีสถาบันการศึกษาที่พร้อมจะเข้ามาช่วยในด้านงานวิชาการ อย่างมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา รวมทั้งมีมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งในจังหวัดนครสวรรค์และในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง มีความสะดวกในการขนส่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ และมีบุคลากรที่พร้อมทั้งผู้ประกอบการ ผู้ชำนาญการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีสภาอุตสาหกรรมจังหวัดช่วยสนับสนุนอีกด้วย
"เราชื่นชมรัฐบาลนี้ที่กำหนดนโยบายประเทศไทย 4.0 และทำให้เกิดโครงการไบโอคอมเพล็กซ์นี้ซึ่งนับเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่มีผลทางเศรษฐกิจต่อเกษตรกรและต่อประเทศชาติมากที่สุดและเป็นไปด้วยความมั่นคงมั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างแท้จริง" นายทองคำกล่าว