นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยที่แกว่งตัวผันผวนและปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านนั้นเป็นการปรับตัวสอดคล้องกับตลาดหุ้นทั่วโลก โดยมีปัจจัยกดดันที่สำคัญคือความกังวลของนักลงทุนต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)ในปีนี้ จากเดิมมองว่า 1 ครั้งกว่าๆเพิ่มมาเป็น 3 ครั้ง
ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อคาดการณ์ของสหรัฐฯที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนแห่ขายพันธบัตรจนทำให้ Bond yield หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนที่รอจังหวะอยู่ ทยอยโยกเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกเข้าสู่ตราสารหนี้สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการปรับพอร์ตโฟลิโอรอบใหญ่ จึงทำให้เกิดความผันผวนสูง และกระตุ้นให้เกิดแรงขายเชิงโมเมนตัมจากกองทุนประเภท Hedge fund และ Volatility fund ยิ่งเป็นแรงกดดันซ้ำเติม
อย่างไรก็ตาม นายณัฐชาตกล่าวว่า ประเมินว่าตลาดหุ้นทั่วโลกหลังจากนี้จะเผชิญกับความผันผวนที่น้อยลง ยกเว้นเสียว่า Bond yield สหรัฐฯจะปรับตัวกระโดดขึ้นมาอีก แต่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากที่ระดับปัจจุบัน ได้สะท้อนหรือ Price in การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed 3 ครั้งในปีนี้ไปแล้ว และไม่คิดว่า Fed จะมีการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่านี้อีก
"มองว่า การปรับลงของตลาดเป็นเพียงการปรับฐานในตลาด Bull market หรือตลาดที่อยู่ในภาวะกระทิงหากมีแรงขายด้วยความตื่นตระหนก(Panic sell) ขึ้นมาอีก จนทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงรุนแรงเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนระยะยาวที่ถือเงินสดมากกว่าระดับปกติในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากราคาหุ้นได้ตอบรับข่าวร้ายไปมากแล้ว สะท้อนจาก VIX Index ซึ่งเป็นดัชนีสะท้อนความผันผวนของตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป แต่ขณะนี้ไม่ได้มีวิกฤติเศรษฐกิจใดๆเกิดขึ้น"
นายณัฐชาตยังระบุว่า มองว่าการปรับลงของตลาด มีระดับแนวรับสำคัญอยู่ 2 ระดับได้แก่ แนวรับแรกที่ระดับ 1,750-1,760 จุด เนื่องจากเป็นระดับต้นทุนดัชนีของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่เข้ามาซื้อหุ้นอย่างหนักในช่วงต้นเดือนธันวาคมและมีแนวรับที่สองที่ 1,700 จุด เนื่องจากเป็นระดับที่น่าสนใจในแง่ของ Valuation เพราะซื้อขายด้วย Forward PE ปี 2562 ที่ 14 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพในเชิงของ Valuation
นายณัฐชาตยังกล่าวถึงปัจจัยบวกที่จะหนุนให้ตลาดไปต่อได้ คือ ทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ไม่น่าแข็งค่าขึ้นไปกว่านี้มากแล้ว ทำให้สกุลเงินประเทศเกิดใหม่ทรงตัวแข็งค่าได้ต่อไป ขณะที่ Bond yield ของไทยที่ยังทรงตัวอยู่ได้ โดยล่าสุดพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 10 ปีอยู่ที่ระดับ 2.4% ซึ่งเป็นระดับที่ยังไม่จูงใจให้นักลงทุนในประเทศโยกเงินออกจากตลาดหุ้นไปยังตลาดตราสารหนี้มากนัก รวมถึงสภาพคล่องในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยล่าสุดเดือนธันวาคม ปริมาณเงินในประเทศ (M2) ขยายตัวถึง 5.2% ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือน เป็นอานิสงส์ต่อราคาสินทรัพย์ต่างๆ
นายณัฐชาตยังได้ประเมินถึงปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวจำกัดดัชนีไม่ให้ขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดหรือ High เดิมที่ระดับ 1,840-1,850 จุด ได้แก่ Bond yield สหรัฐฯที่ยังคงอยู่ในระดับสูง (ล่าสุดรุ่นอายุ 10 ปีอยู่ที่ระดับ 2.8%) เมื่อมาประกอบกับประมาณการ EPS (อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้น)ของตลาดหุ้นไทย ที่ยังคงไม่ถูกปรับขึ้นทั้งในส่วนของปี 2561 และ 2562 จึงทำให้ Valuation ของดัชนหุ้นไทยในมิติ Earning yield gap ยังไม่น่าสนใจนัก คาดว่าจะยังไม่เห็น Fund flow ไหลเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ติดตามประเด็นความเสี่ยงภูมิศาสตร์การเมืองในระยะสั้น ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการจัดการเลือกตั้งที่ประเทศอิตาลีในวันที่ 4 มีนาคม ซึ่งล่าสุดคะแนนนิยมของพรรคฝ่ายขวาจัดเริ่มสูงขึ้นตามลำดับ ซึ่งพรรคเหล่านี้มีแนวคิดต่อต้านและกีดกันผู้อพยพอย่างรุนแรง หากมีความวุ่นวายมากขึ้น มองอาจทำให้ตลาดทุนทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวผันผวนได้
ในสภาวะที่ตลาดยังต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย นายณัฐชาตแนะนำ Theme การลงทุนที่เหมาะจะเป็นหลุมหลบภัยได้แก่ กลุ่มหุ้นปันผลสูง ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่มี Downside จำกัดกว่าตลาด ได้แก่ กลุ่มที่อยู่อาศัย (AP, LH) กลุ่มโรงกลั่น (IRPC, SPRC, TOP) และ กลุ่มธนาคารเช่าซื้อ (KKP, TISCO)