ผลการแข่งขันประเภทมาราธอน ระยะทาง 42.195 กม. นักกีฬาชายที่เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกพร้อมครองแชมป์โอเวอร์ออลตกเป็นของ คิร์วา นิโคลาส ปอดเหล็กชาวเคนย่า ที่เค้นฝีเท้าเข้าวินด้วยเวลา 02.21.02 ชม. ตามด้วยอันดับ 2 เอ็ดวินคิปตานุย คิชเวน จากเคนย่าเช่นกัน (02.25.04 ชม.) และอันดับ 3 บ๋า หยู จากจีน (02.27.51 ชม.) คว้าเงินรางวัลคนละ 100,000-50,000-30,000บาทตามลำดับ
ขณะที่ บุญถึง ศรีสังข์ นักวิ่งมาราธอนจอมเก๋าทีมชาติไทย เป็นนักวิ่งไทยที่เข้าเส้นชัยคนแรกพร้อมรับเงินรางวัล 50,000 บาท และรั้งอันดับ 4 ในโอเวอร์ออล ที่เวลา 02.32.35 ชม. เปิดใจภายหลังแข่งขันว่า "สถิติที่ออกมาน้อยกว่าปีที่แล้ว 2 นาที ยอมรับว่ามีตัวแปรในเรื่องสภาพอากาศและการเตรียมตัวที่น้อยเกินไป หลังจากนี้คงจะต้องเตรียมตัวแข่งให้ดีกว่านี้เพื่อทำสถิติให้ดีขึ้นในรายการต่อไปอีก 3-4 เดือนจากนี้ ส่วนทีมชาติก็จะเข้าแคมป์เก็บตัวในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าเพื่อเตรียมลงแข่งขันในเอเชียนเกมส์2018 ที่อินโดนีเซีย แต่ผลจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับทางสมาคมซึ่งเป็นคนคัดเลือกตัว เพราะตอนนี้มีน้องๆ รุ่นใหม่ ที่มีความสามารถหลายคน"
ด้าน โอเวอร์ออลหญิง อันดับ 1 โรทิช แนนซี่ โจนส์ สาวชาวเคนย่า ทำเวลาได้ 02.48.49 ชม. ตามด้วยอันดับ 2 เท็ตยานา เวอร์นีกอร์ จากเบลารุส (02.52.12 ชม.) และอันดับ 3 เบอริตูเดเมซา อูเดซา จากเอธิโอเปีย (03.01.07 ชม.) ซิวเงินรางวัลคนละ100,000-50,000-30,000 บาทตามลำดับ
ส่วนสาวไทยที่เข้าเส้นชัยคนแรกคือ "ฝน" ณัฐธยาน์ ธนรณวัฒน์ นักวิ่งทีมชาติไทย รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมรั้งอันดับ 4โอเวอร์ออลฝั่งนักวิ่งหญิงที่เวลา 03.01.14 ชม. กล่าวว่า "เมื่อปีที่แล้วได้ที่ 1 คนไทยประเภทฮาล์ฟมาราธอน มาปีนี้ขยับมาวิ่งมาราธอน ก็ยังสามารถทำผลงานเป็นอันดับ 1 ของคนไทยได้ จึงพอใจมากกับสถิติที่ทำได้ เพราะก่อนแข่งสภาพร่างกายไม่พร้อม ไม่สบายเป็นไข้หวัด และปวดท้องมีประจำเดือนด้วย หลังจากนี้ก็จะสลับไปวิ่งในระยะมินิมาราธอนก่อนค่อยไต่อันดับไปวิ่งมาราธอน เพราะถ้าวิ่งในระยะ 10 กม.ได้ดี ก็จะส่งผลต่อสถิติในระยะฮาล์ฟมาราธอนและมาราธอนต่อไป ส่วนทีมชาติคงเป็นหน้าที่ของรุ่นน้องมากกว่า ให้น้องๆ ไปหาประสบการณ์เพราะส่วนตัวอายุมากแล้ว มีภาระกิจในด้านหน้ามี่การงานและครอบครัว แต่ยังเป็นพี่เลี้ยงให้น้องๆ ต่อไป"
ทางฝั่งฮาล์ฟมาราธอน ระยะทาง 21.1 กม. ฝ่ายชายอันดับ 1 จอซฟัทคิตตานุย ตู (เคนยา/01.03.14 ชม.) อันดับ 2 วันโยอิเก ปีเตอร์ดันกู (เคนยา/01.05.15 ชม.) และอันดับ 3 โรทิช เคนเรธเคมบอย (เคนยา/01.08.52 ชม.) ส่วนหนุ่มไทยที่ทำเวลาดีที่สุดคือ สัญชัย นามเขต นักวิ่งดีกรีทีมชาติ 01.09.11 ชม. พร้อมได้ที่ 5 โอเวอร์ออล ขณะที่นักวิ่งหญิง อันดับ 1 อิมมาคูลเลท เชมูไต (ยูกันดา/01.21.01 ชม.) ตามด้วย ลินดา จันทะชิต (ไทย/01.23.45 ชม.) และอันดับ 3 นิยาดา คอนสันเทียะ (ไทย/01.40.06ชม.) โดยอันดับ 1-3 ทั้งชายและหญิงได้รับเงินรางวัลคนละ 50,000-25,000-15,000 บาทตามลำดับ ส่วนแชมป์คนไทยได้30,000 บาท
ขณะที่ มินิมาราธอน ระยะทาง 10 กม. ฝ่ายชาย อันดับ 1 ลาบันคิปเคมอย โมอิเบน (เคนยา/28.59 น.) ตามด้วยนักวิ่งคู่แฝดของไทย อันดับ 2 ณัฐวุฒิ อินนุ่ม (29.48 น.) ซึ่งนับเป็นนักวิ่งชายไทยคนแรกที่ทำเวลาได้ต่ำกว่า 30 นาทีในรายการวิ่งมาตรฐานระยะมินิมาราธอนด้วยเช่นกัน และอันดับ 3 ณัฐวัฒน์ อินนุ่ม (30.00 น.) ส่วนฝ่ายหญิง อันดับ 1 ลดแก้ว อินทกุมมาน (ลาว/37.23 น.) อันดับ 2 วรพรรณ นวลศรี (ไทย/49.17 น.) และอันดับ 3 สุณีกา ปรีชาโปร่ง (ไทย/40.31 น.) โดยอันดับ 1-3 ทั้งชายและหญิงได้รับเงินรางวัลคนละ 20,000-12,500-7,500 บาทตามลำดับ ส่วนแชมป์คนไทยได้ 20,000 บาท
สำหรับ งานวิ่ง "บุรีรัมย์ มาราธอน 2018 Presented by เครื่องดื่มตราช้าง" รับรองการจัดการแข่งขันโดย สมาพันธ์กรีฑานานาชาติ (IAAF) สหพันธ์กรีฑาเอเชีย (AAA) สมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (AAT) มีเส้นทางวิ่งผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์และเส้นทางธรรมชาติ พร้อมเสียงเชียร์ให้กำลังใจจากชาวท้องถิ่นทุก 500 เมตร บนความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากลด้วยการปิดการจราจร 100% พร้อมด้วยจุดปฐมพยาบาลตลอดเส้นทางถึง 29 จุด และรถพยาบาลคอยเตรียมพร้อมให้บริการอีก 24 คัน ออกสตาร์ทที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต สนามแข่งรถระดับโลกที่เตรียมจัดการแข่งขันโมโตจีพี2018 วิ่งผ่านสันเขื่อนห้วยจระเข้มาก, สนามฟุตบอล ไอ-โมบาย สเตเดี้ยม, พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, บ้านเรือนและร้านค้ากลางเมือง, วัดกลางพระอารามหลวง, สวนสาธารณะ , โรงเรียนอนุบาลธีราและศาลากลางจังหวัด(หลังเดิม) ก่อนเข้าเส้ยชัยที่ บุรีรัมย์ คาสเซิ่ล สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.burirammarathon.comและ www.facebook.com/bru.marathon
https://www.youtube.com/watch?v=4NL--7L5eK4&feature=youtu.be