“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” ร่วมกับ “ยูซีแอล” มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต

อังคาร ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๘ ๑๗:๕๐
คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Visioning and Needs Analysis โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยยูซีแอล (University College London: UCL) มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ร่วมกันหารือถึงการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงมุ่งหวังให้บัณฑิตแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นอกจากจะเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ และมีคุณธรรมจริยธรรมแล้ว ยังเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรักษาการอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข และคณาจารย์ คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมผู้เกี่ยวข้องจากหลายองค์กรเข้าร่วมด้วย อาทิ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นางสาวนุชนภา รื่นอบเชย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา, รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายกแพทยสภา, รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล, นายแพทย์พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ตัวแทนนายแพทย์ใหญ่และแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจ อาจารย์แนะแนวจากโรงเรียนมัธยมศึกษา เป็นต้น วัตถุประสงค์ในการจัดประชุมครั้งนี้เพื่อเป็นการระดมสมองจากทุกภาคส่วนในการที่จะพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โดยมีมหาวิทยาลัยยูซีแอลร่วมมือในการเป็นที่ปรึกษาพัฒนาหลักสูตร ณ ห้องประชุม 1 อาคารศูนย์ประชุม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 5 – 9 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา

วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันการศึกษาในกำกับของรัฐบาลที่ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระประสงค์ให้ก่อตั้งขึ้นเพื่อสานต่อพระปณิธาน และเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 90 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีปีการศึกษาแรกเมื่อในปีพ.ศ.2560 ทั้งนี้ สำหรับการประชุมความร่วมมือเชิงปฏิบัติครั้งนี้เป็นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตที่เกิดขึ้นจากพระวิสัยทัศน์ และสายพระเนตรที่ยาวไกลใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงลงพระนามและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพระบบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทยสู่ระดับสากล กับทางมหาวิทยาลัยยูซีแอล (University College London: UCL) มหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของโลก ในการร่วมมือพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตนานาชาติ โดยเป็นหลักสูตรแพทย์ 7 ปี ซึ่งความโดดเด่นของหลักสูตร คือ นักศึกษาแพทย์จะได้มีโอกาสเข้าร่วมทำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร ระหว่างการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของหลักสูตร คือ การผลิตแพทย์ที่เมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วจะมีความโดดเด่นทั้งในด้านการเป็นผู้นำในวิชาชีพ เป็นแพทย์ที่ดีมีคุณธรรมจริยธรรม และมีความรู้ความสามารถในด้านวิจัย และพัฒนานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ อันจะส่งผลและเป็นประโยชน์อย่างเด่นชัดให้กับระบบการแพทย์และการสาธารณสุขไทยทั้งในระดับชุมชน และระดับประเทศต่อไป

มหาวิทยาลัยยูซีแอลถือเป็นวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงติดอันดับโลกโดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีผู้ได้รับรางวัลโนเบลมาแล้ว 29 คน มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีความโดดเด่นด้านการส่งเสริมและกระตุ้นมุมมองทางด้านการวิจัย สร้างองค์ความรู้ และมีความเป็นเลิศในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ พร้อมทั้งมีหน่วยงานเฉพาะให้คำปรึกษาด้านแพทยศาสตรศึกษา ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของการศึกษาทางการแพทย์ทั่วโลกและให้ความสำคัญกับการวิจัยด้านชีวการแพทย์ที่เข้มข้นในระดับสากล

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ