บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) โดย นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กรและ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี ร่วมลงนาม "บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาเครือข่ายแถบความถี่แคบ สำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง มทส. - AIS (SUT - AIS Narrow Band Internet of Things Development Project: NB–IoT)" พัฒนานวัตกรรมเสริมสร้างแนวคิดเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ในเมืองมหาวิทยาลัย
โดยเอไอเอสได้สนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์สถานีฐานระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นระบบที่ใช้งานจริงในปัจจุบัน สำหรับการแพร่กระจายสัญญาณเครือข่าย NB-IoT สำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาและนักพัฒนาได้เข้าถึงเทคโนโลยีเครือข่าย สามารถฝึกปฏิบัติงานจริงกับอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อการทดสอบสมรรถนะและประสิทธิภาพของเครือข่ายต่อการให้บริการเชื่อมต่อระหว่าง Server กับ Sensor ชนิดต่างๆ
อาทิ การสัญจรอัจฉริยะ การวางระบบการคมนาคมที่เหมาะสมกับการสัญจรทุกประเภท ระบบขนส่งที่เชื่อมต่อไปยังเขตเมืองรอบนอก ระบบ Smart Parking จองช่องจอดรถยนต์, นวัตกรรมอัจฉิรยะเพื่อสังคมผู้สูงอายุและสนับสนุนด้านการให้บริการด้านการแพทย์ การตรวจสอบและติดตามผู้สูงอายุ เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุและปัญหาสุขภาพ, การดูแลคุณภาพยาและเวชภัณฑ์ภายในคลังยาด้วยเทคโนโลยี NB-IoT เกษตรกรรมอัจฉริยะ, การตรวจสอบ ติดตาม เก็บข้อมูลสภาพอากาศ ดิน น้ำ ลม แสงแดด นำมาวิเคราะห์วางแผนการเพาะปลูกพืชผลและลดต้นทุน ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยี NB-IoT เข้ามาใช้งานร่วมกับการพัฒนาตัวตรวจรู้ชนิดต่าง ๆ โดยติดตั้งตัวตรวจรู้กับบอร์ดประมวลผลและส่งข้อมูลผ่านเครือข่าย NB-IoT ไปยัง Server เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบที่รองรับ NB-IoT และวางแผนการใช้งานเครือข่าย NB-IoT ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเมืองด้านต่างๆ เตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0
นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์ และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า "นอกเหนือจาการเป็นผู้ให้บริการระบบสื่อสาร ที่มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพบริการในทุกด้านแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการร่วมกับสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล อันจะเป็นการสร้างการเรียนรู้และวางรากฐานให้แก่นักศึกษาที่จะเป็นบุคลากรสำคัญในการเสริมขีดความสามารถของประเทศ ดังเช่น ความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในครั้งนี้ ที่ร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี IoT บนโครงข่าย NB-IoT ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา"
IoT หรือ อินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง ถือเป็นเทคโนโลยีที่จะพลิกโฉมการใช้ชีวิตและปฏิวัติวงการอุตสาหกรรม ตลอดจนรูปแบบของการบริหารจัดการเมือง หรือ Smart City ไปอีกขั้น ที่ผ่านมาเอไอเอส จึงเตรียมเทคโนโลยีเครือข่าย NB – IoT หรือ Narrow Band Internet of Things ที่เป็นมาตรฐานสากล รองรับการมาถึงของเทคโนโลยีไว้อย่างพร้อมสรรพ โดยประโยชน์ของ NB IoT ประกอบด้วย
- สนับสนุนการใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำ จึงช่วยให้อายุการใช้งานแบตเตอรี่ในอุปกรณ์ IoT อยู่ได้นานถึง 10 ปี
- รองรับปริมาณอุปกรณ์ IoT ได้สูงสุดในระดับแสนตัวต่อสถานีฐาน
- มีรัศมีครอบคลุมของเครือข่ายต่อสถานีฐาน กระจายได้มากกว่า 10 ก.ม. แม้แต่ในตัวอาคารก็ยังรับสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะบ่มเพาะขีดความสามารถของนิสิต นักศึกษา ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังถือเป็นต้นแบบของการสร้างระบบนิเวศน์ของอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง หรือ IoT Ecosystem ที่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้พัฒนาเครือข่าย ซึ่งร่วมสนับสนุนโดยบริษัท ZTE พันธมิตรระดับโลกของเรา ผู้พัฒนา Solutions/Application นักศึกษาที่เป็น Maker ได้มาร่วมวิจัย ทดสอบ และพัฒนาบริการให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งแน่นอนว่าจะสร้างประโยชน์ให้แก่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีของประเทศในระยะยาวอย่างแน่นอน" นายวีรวัฒน์กล่าว
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยว่า "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา กับหน่วยงานและสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร การเรียนการสอนให้มีความทันสมัยและผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน อีกทั้งมหาวิทยาลัยมีแนวทางดำเนินการโครงการสร้างระบบการบริหารจัดการที่ใช้เทคโนโลยี ICT และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเป็น Digital University
สำหรับความร่วมมือระหว่าง มทส. และเอไอเอส จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักพัฒนา นักวิจัย ได้เข้าถึงเทคโนโลยีเครือข่าย NB-IoT เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคมและระบบสหกิจศึกษา ให้นักศึกษาสามารถฝึกปฏิบัติงานจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานจริงที่ติดตั้งอยู่ที่บริษัทและภายในมหาวิทยาลัย รวมถึงผลิตบัณฑิตเป็นวิศวกรทางด้านโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรของบริษัทในระดับวิศวกร ทั้งการจัดฝึกอบรม การให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีใหม่ หรือ การศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา"
บรรยายใต้ภาพ
เอไอเอส โดย นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กรและ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี ร่วมลงนาม "บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาเครือข่ายแถบความถี่แคบ สำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง มทส. - AIS (SUT - AIS Narrow Band Internet of Things Development Project: NB–IoT)" พัฒนานวัตกรรมเสริมสร้างแนวคิดเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ในเมืองมหาวิทยาลัย