UNC ปี 5 สะท้อน“นักศึกษา” ยังสนใจปัญหาสังคมใกล้ตัว มูลนิธิสยามกัมมาจล

จันทร์ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๘ ๑๓:๐๐
UNC ปี 5 เดินเครื่อง 12 มหาวิทยาลัยผนึกกำลัง จัดกระบวนพานักศึกษาร่วมเรียนรู้โจทย์จริงจากสังคม กระตุกนักศึกษาสนใจปัญหาสังคมใกล้ตัว 14 คณะ ขานรับใช้ "สื่อสร้างสรรค์" ร่วมแก้ปัญหา ทั้งเรื่องการใช้สื่อ สิ่งแวดล้อม ขยะ การท่องเที่ยว ฯลฯ สะท้อนกระบวนการปลูกต้นกล้าจิตสำนึกในใจศิษย์

เมื่อวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 ณ อาคารคุณหญิงพัฒนา (อาคาร 8) คณะศิลปะและการออกแบบ ม.รังสิตเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network For Change : UNC) เปิดโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยน่าอยู่ ครั้งที่ 5 อย่างเป็นทางการโดยการเปิดเวทีนำเสนอผลงานนักศึกษาครั้งที่ 1 เพื่อให้นำเสนอกรอบแนวคิดในการเลือกโจทย์ที่สนใจ รูปแบบการสื่อสาร และรับฟังข้อเสนอแนะจากคณาจารย์และเพื่อนๆ ต่างมหาวิทยาลัย หลังเริ่มงานมาประมาณหนึ่งเดือนในภาคการศึกษาใหม่นี้

ในเวทีนี้ นักศึกษาจากคณะวิชาที่สอนด้านศิลปะการออกแบบเพื่อการสื่อสาร จำนวน 12 มหาวิทยาลัย 14 คณะ ได้นำเสนอสื่อเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาใหญ่ของสังคมที่ตนเองสนใจใน 3 ประเด็น คือ ปัญหาการใช้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สูสีกับประเด็นปัญหาส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม / ศิลปะรับใช้ชุมชน / การท่องเที่ยวชุมชน และอีกหนึ่งปัญหาที่สนใจคือปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม / การจัดการขยะ ซึ่งนักศึกษามองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาใกล้ตัวและตัวเองควรจะลุกขึ้นมาช่วยแก้โดยใช้ความรู้ความสามารถที่เรียนมาด้านการออกแบบและสื่อสาร เพื่อบอกกับสังคมถึงประเด็นปัญหาต่างๆ เป็นการกระตุ้นสำนึกความรับผิดชอบร่วมกันในสังคมอีกด้วย

3 ประเด็นปัญหาที่นักศึกษาสนใจได้แก่ ประเด็นปัญหาการใช้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้แก่ ม.ศิลปากร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สนใจเรื่องของผลจากสื่อออนไลน์ในประเด็นการแชร์, การมีทัศนคติที่แตกแต่งกัน,วิจารณญาณของผู้เสพสื่อ , ม.กรุงเทพ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ร่วมรณรงค์ให้สื่อมีความปลอดภัย, ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หลักสูตรโครงการร่วมบริหารหลักสูตรหลักสูตรมีเดียอาตส์และเทคโนโลยีมีเดียสาขาวิชามีเดียอาตส์ สนใจประเด็นสื่อปลอดภัย ,ม.มหาสารคาม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์-ผังเมือง-นฤมิตศิลป์ สนใจเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ทำให้เกิดกระแสนิยมวัตถุ,ม.รังสิต คณะศิลปะและการออกแบบ สนใจเรื่องผู้สูงอายุที่ประเด็นของโลกวันนี้ ,ม.ศรีนครินทรวิโรฒ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สนใจประเด็น "การลวนลามทางเพศทางสื่อออนไลน์"

ประเด็นปัญหาเรื่องส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม / ศิลปะรับใช้ชุมชน / การท่องเที่ยวชุมชน ได้แก่ ม.ศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ สนใจปัญหาในชุมชนบางลำพู ชุมชนบ้านบาตร ชุมชนเยาวราช – สำเพ็ง ในมิติที่แตกต่างกันและอีกหนึ่งกลุ่มที่สนใจปัญหาการค้าประเวณีในประเทศไทยในหัวข้อชุมชนนักศึกษาชายที่เป็นผู้ซื้อบริการทางเพศ , ม.สงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี คณะวิทยาการสื่อสาร สนใจเรื่องขนมพื้นบ้านภาคใต้ที่กำลังเลือนหายไป,ม.อัสสัมชัญ คณะนิเทศศาสตร์ สนใจเรื่องงานวัดและการไหว้ ที่ท้าท้ายมุมมองคนรุ่นเก่า-ใหม่ , ม.นเรศวร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สนใจการท่องเที่ยวจ.พิษณุโลก ,สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สนใจปัญหาที่บางกระเจ้าที่เที่ยวยอดฮิตใกล้กรุง

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม / การจัดการขยะ ได้แก่ ม.บูรพา คณะศิลปกรรมศาสตร์ สนใจปัญหาขยะที่ชายหาดบางแสน ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศิลปกรรมศาสตร์ สนใจขยะในช่วงเทศกาลสำคัญของไทย ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นจนไทยติดอันดับ 5 ของโลก และม.รังสิต คณะศิลปะและการออกแบบ สนใจปัญหาขยะที่ทิ้งแล้วกลับมาส่งผลต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์

มาฟังความเห็นตัวแทนของนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ คนแรก นายอาณกร ตันสุริวงศ์ นักศึกษาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ เอกลูกค้าสัมพันธ์ ม.ศิลปากร ชั้นปีที่ 3 อาสาเข้าร่วมโครงการนี้เพราะคิดว่าเป็นการฝึกประสบการณ์ที่ดีให้กับตัวเอง รวมถึงต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม สนใจในประเด็นปัญหาการใช้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เลือกสื่อสาร ในหัวข้อ "แชร์ร้าว" เจาะกลุ่มเป้าหมาย 15-25 ปี มองว่ากลุ่มนี้ไม่ค่อยระมัดระวังในการแชร์บนโลกออนไลน์ เจ้าตัวเผยว่าสนใจประเด็นนี้เพราะ..."เพราะรู้สึกว่าการเข้าถึงสื่อเป็นเรื่องง่าย และใกล้ตัว ถึงแค่เป็นประเด็นเล็กๆ แต่ถ้าเราทำให้เกิดการแก้ไขได้ และถ้าทำสำเร็จจริงๆ คนจะมีวิจารณญาณในการรับสารต่างๆในสื่อออนไลน์ เขาก็จะมีวิจารณญาณทำอย่างอื่นในชีวิตประจำวันด้วย เมื่อทุกคนรู้จักวิธีเลือกสารที่ดี ทุกคนในสังคมก็จะมีทัศนคติที่ดีขึ้น มีตรรกะที่หนักแน่นขึ้น" ต้องรอชมผลงานในรูปแบบวิดีโอที่เจ้าตัวจะลงทำรีเสิร์ชในแต่ละมหาวิทยาลัยและถ่ายคลิปไว้เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลง

ซึ่งต่างจาก นางสาวนภาพร วิภาหะ สาขาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ชั้นปีที่ 3 ที่โครงการนี้เป็นหนึ่งในวิชาเรียน เพื่อนๆ ที่คณะได้สนใจปัญหาชุมชนที่เยาวราช - สำเพ็ง บางลำพู และบ้านบาตร ในมิติที่แตกต่างกัน"การเข้าร่วมโครงการนี้อยู่ในรายวิชาทำให้เราต้องออกไปยังชุมชนและสังคมภายนอก ซึ่งเป็นสเกลที่กว้างขึ้น โดยเราต้องบริหารจัดการทั้งสมาชิกภายในกลุ่มและบุคคลภายนอกซึ่งเป็นคนอีกกลุ่ม เป็นการขยายสเกลงานที่ทำให้เหมือนกับเราออกไปทำงานจริงๆ ข้างนอก ซึ่งเวลาเราออกไปทำงานข้างนอกก็ต้องทำงานกับผู้คนที่เป็นองค์กรใหญ่มากขึ้น เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานจริง สิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างแรก คือ กระบวนการทำงานเป็นทีม และกระบวนการแก้ไขปัญหา รวมถึงการแตกประเด็น ว่าเราจะจับประเด็นใดมาทำงาน ชอบมากกว่าการเรียนแต่หลักการ นี่คือการนำไปใช้จริง ซึ่งทำให้เจอสิ่งที่ไม่คาดฝันมาก่อน เจอปัญหาเฉพาะหน้าและทำให้เกิดการแก้ไข" ลองมาดูกันว่านักศึกษาเหล่านี้จะใช้สื่อตนเองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไรได้บ้าง

เป็นตัวอย่างของสองนักศึกษาที่ผ่านกระบวนการให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากโจทย์จริง การลงไปสืบค้นข้อมูลเชิงลึกที่ตนสนใจจากพื้นที่จริง มีการร่วมกันทำงานเป็นทีม เครือข่ายฯ ได้ร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ให้นักศึกษาได้สัมผัสเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดการสร้างสำนึกพลเมืองให้ติดตัวกับนักศึกษาทุกคนที่เข้าร่วมโครงการนี้นั่นเอง อาจารย์ดนุ ภู่มาลี ผู้ช่วยคณบดี คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต ประธานเครือข่ายฯ กล่าวว่า "วัตถุประสงค์จริงๆ ของโครงการนี้ไม่ได้วัดกันที่ผลงาน ที่จริงวัดกันที่การทำให้ mindset ของเด็กที่เข้าร่วมโครงการนี้ดีขึ้น ในแง่มีความคิดสร้างสรรค์ด้านบวกที่จะทำเพื่อสังคม โครงการได้เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้ลองมาทำงานจริง เจอโจทย์ชุมชนจริงๆ ซึ่งอาจารย์ก็จะมีการออกแบบต่างกันไป บางท่านนำไปใส่ไว้ในรายวิชา หรือ บางท่านก็จะให้เด็กอาสาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งพวกเราหวังว่าเด็กกลุ่มนี้ที่เข้าร่วมโครงการจะเติบโตเป็นวัยทำงานที่มีจิตสำนึก ผมคิดว่าสิ่งที่เราพยายามปลูกฝังให้พวกเขาจะเป็นภูมิคุ้มกันหนึ่ง เมื่อเราปลูกทัศนคติดีๆ เป็นวัคซีนป้องกันการทำสิ่งไม่ดี ให้กับพลเมืองรุ่นใหม่ ต่อไปถ้ามีวัคซีนตรงข้ามกับที่เขาถูกปลูกฝังมาเขาจะได้ไม่ทำ เพราะฉะนั้นหากเยาวชนแบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในภาพรวมของสังคมก็จะดีขึ้น ประเทศเราจะดีขึ้นจากพลังของคนรุ่นใหม่ที่เราปลูกฝังเรื่องเหล่านี้เข้าไป" ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ภาคเรียน และนักศึกษาจะมานำเสนอผลงานในรูปแบบนิทรรศการในวันที่ 6 มิ.ย. นี้ ที่หอศิลป์กรุงเทพมหานคร

เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network For Change : UNC) เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้บริหารและคณาจารย์ คณะวิชาที่สอนด้านศิลปะการออกแบบเพื่อการสื่อสารของมหาวิทยาลัย 12 แห่ง ที่ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างนักออกแบบเพื่อการสื่อสารรุ่นใหม่ให้มีสำนึกความเป็นพลเมือง และใช้ศักยภาพของตัวเองในการร่วมสร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสังคมไทย ได้ร่วมมือกับสภาคณบดีทางศิลปะแห่งประเทศไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 โดยมีเป้าหมายที่จะ สนับสนุนให้เกิด "เครือข่าย" ความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมและมหาวิทยาลัย ปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ และพัฒนาทักษะการผลิตสื่อ-การสื่อสาร จากโจทย์จริงของสังคม ซึ่งสอดคล้องกับหลักการมหาวิทยาลัยรับใช้สังคมและพัฒนาสำนึกพลเมืองของนักศึกษา

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version