ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า สำหรับความร่วมมือระหว่าง วว. และ กนอ. ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานด้านวิจัยและพัฒนาพร้อมกับสร้างนวัตกรรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งบริการงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมขีดความสามารถบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมรองรับนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น ตลอดจนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันรวมถึงลดต้นทุนของการประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์การเพิ่มความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม โดยมีกรอบระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี
"...วว.รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ กนอ. โดยนำศักยภาพของทั้งสองหน่วยงาน มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคอุตสาหกรรม โดยกิจกรรมที่จะได้ร่วมกันดำเนินงาน อาทิ การฝึกอบรมสัมมนาและให้คำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการในการนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ นับเป็นบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน ที่จะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถของบุคลากรในนิคมอุตสาหกรรมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น นอกจากนี้ทั้งสองหน่วยงานยังจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางวิชาการระหว่างกัน อีกด้วย..." ผู้ว่าการ วว.กล่าวเพิ่มเติม
ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้ตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จำเป็นต้องหาองค์ความรู้ หรือ KnowHow ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาช่วยขับเคลื่อนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรม New S-curve ด้าน วว. นั้นเป็นหน่วยงานที่มีผลงานวิจัยหลากหลายทั้งเรื่องข้าว ยางพารา ที่สามารถสนองตอบต่อนิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนงานบริการทางวิทยาศาสตร์ฯ ยังช่วยเสริมความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรม สำหรับความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการในครั้งนี้นี้ นับเป็นการสร้างโอกาสที่จะได้ร่วมมือกันพัฒนางานร่วมกันต่อไปในอนาคต
อนึ่งภายหลังจากพิธีลงนามความร่วมมือ ผู้ว่าการ วว. นำ ผู้ว่าการ กนอ.และคณะ ชมนิทรรศการผลการดำเนินงาน วว. โดย วว. นำเสนอความเชี่ยวชาญในด้านงานวิจัยและพัฒนา อาทิ โครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว…ที่ วว.ดำเนินงานตลอดทั้งห่วงโซ่ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนกระทั่งถึงปลายทาง เช่น การพัฒนาปุ๋ยสำหรับเพิ่มคุณภาพผลผลิตข้าว การวิจัยผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การรับรองคุณภาพ เป็นต้น รวมทั้งงานบริการเพื่อสนองตอบต่ออุตสาหกรรม New S-curve เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศในการทดสอบความเข้ากันได้ทางชีวภาพของเครื่องมือทางการแพทย์ โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาขั้นสูงสำหรับการซ่อมและผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมการบิน
นอกจากนี้ยังจัดแสดงโครงการความร่วมมือที่ผ่านมาระหว่าง วว.และ กนอ. เช่น โครงการสนับสนุนพื้นที่รับบริการ ณ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตั้งแต่ปี 2557-ปัจจุบัน และแนวโน้มความร่วมมือในอนาคต โครงการบูรณาการนวัตกรรมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของท้องถิ่น กรณีศึกษานิคมอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว และ ความร่วมมือระหว่าง วว. ร่วมกับสมาคมเพื่อนชุมชน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุดเพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนโดยรอบ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและยกระดับผู้ผลิตสินค้าท้องถิ่นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดระยอง ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เป็นต้น