รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ กล่าวว่า ในปี 2561 มหาวิทยาลัยได้มีการจัดกิจกรรมครบรอบ 50 ปี ในหลายรูปแบบในทุกวิทยาเขต ไม่ว่าจะเป็นวิทยาเขตปัตตานี หาดใหญ่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และวิทยาเขตตรัง โดยได้ทำกิจกรรมกันมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 มีทั้งการจัดกิจกรรมที่จัดโดยส่วนกลาง และกิจกรรมของคณะ หรือหน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย การออกแบบตราสัญลักษณ์ครบรอบ 50 ปี กิจกรรมทางวิชาการ กิจกรรมในเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กีฬา บันเทิง และนันทนาการ การจัดทำเพลงมหาวิทยาลัยในวาระ 50 ปี การแสดงทางศิลปะและวัฒนธรรม การจัดทำหนังสือครบรอบ 50 ปี ม.อ. และการระดมทุน
สำหรับในวันที่ 13 มีนาคม 2561 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 50 ปี ที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ.2511 ประกาศใช้ และถือเอาวันนี้ของทุกปีเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย ได้มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองขึ้นตลอดทั้งวัน โดยในภาคเช้าจะมีพิธีทำบุญตักบาตร การจัดงานวันคุณค่าสงขลานครินทร์ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ม.อ. ซึ่งในงานมีพิธีมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เครื่องหมายเชิดชูเกียรติ มอบโล่ เกียรติบัตรแก่ผู้มีผลงานดีเด่น และ มีปาฐกถาพิเศษ "สงขลานครินทร์กับการพัฒนาสังคม" โดยนายชวน หลีกภัย ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัย และการเสวนาหัวข้อ "ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง" โดย ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ปี 2552
ส่วนภาคค่ำ มี "การจัดงาน "5 ทศวรรษแห่งการยืนหยัด สู่ศตวรรษแห่งความยั่งยืน" ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ม.อ. ซึ่งจะแบ่งงานเป็น 2 ส่วน คือ งานคืนสู่เหย้า ชาว ม.อ. ซึ่งเป็นงานเลี้ยงพบปะสังสรรค์ศิษย์เก่า และในเวลา 21.30 น. เป็นต้นไป เป็นการถ่ายทอดสดรายการพิเศษ "5 ทศวรรษแห่งการยืนหยัด สู่ศตวรรษแห่งความยั่งยืน" ทางช่อง 9 อสมท. และ ช่อง 30 HD ซึ่งเป็นรายการที่แสดงถึงความสำเร็จของการดำเนินภารกิจมหาวิทยาลัยเพื่อภาคใต้และประเทศชาติ ทั้งที่ผ่านมาในอดีตและมองสู่อนาคตผ่านการนำเสนอในหลายรูปแบบสร้างสรรค์รายการโดยบริษัททีวีบูรพา และในรายการจะมีการรับบริจาคเพื่อนำสมทบ "กองทุน 50 ม.อ.เพื่อเพื่อนมนุษย์" ด้วย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังได้กล่าวถึงพัฒนาการตลอด 50 ปีของมหาวิทยาลัย หลังการเปิดรับนักศึกษาในปี 2510 ว่า สามารถจะแบ่งได้ 5 ช่วงเวลาคือ ทศวรรษแรก การก้าวเข้าสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาของภาคใต้ โดยการย้ายคณะอาจารย์และนักศึกษาจากสำนักงานชั่วคราวที่กรุงเทพ ไปที่ศูนย์ปัตตานี ในปี 2511 และได้ย้ายไปที่ศูนย์หาดใหญ่ ในปี 2514 ทศวรรษที่สอง มุ่งสนองความต้องการกำลังคนด้านการเกษตรและสาธารณสุข และเพิ่มบทบาทในการบริการวิชาการแก่ชุมชน เปิดสาขาวิชาในระดับบัณฑิตศึกษา ขยายภารกิจการวิจัย ทศวรรษที่สาม ขยายการศึกษาไปยังจังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดตรัง โดยได้กำหนดจุดเน้นทางวิชาการของแต่ละพื้นที่ เริ่มวางรากฐานระบบมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ หรือ PSU System ขึ้น เพื่อเชื่อมโยงความเป็นเครือข่ายของวิทยาเขต ทศวรรษที่สี่ มุ่งวางระบบเพื่อก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการวิจัยเป็นฐาน สนับสนุนการพัฒนาโครงการสาขาวิชาสู่ความเป็นเลิศ เน้นการตอบโจทย์การแก้ปัญหาของภาคใต้ พร้อมกับการเปิดประตูสู่โลกกว้าง และ ทศวรรษที่ห้า มุ่งเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่เข้มแข็งและเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย สามารถแข่งขันของประเทศในระดับนานาชาติ และได้ปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ โดยกฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อ 21 กรกฎาคม 2559
เวลาที่ผ่านมา 50 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพทั้งทางวิชาการและคุณธรรม มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจเรื่องพหุวัฒนธรรม และ มีการผลิต งานวิจัยนวัตกรรมในสาขาต่างๆ ที่เน้นการตอบโจทย์และมุ่งมั่นที่จะเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ต่างๆ ที่เกิดในภาคใต้ รวมทั้งการทำนุบำรุงวัฒนธรรม นับว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้
สำหรับแผนพัฒนาในอนาคต มหาวิทยาลัยได้กำหนดแผนพัฒนาระยะยาว ที่มุ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อนวัตกรรมและสังคม ท่ามกลางความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 การพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิตอล และ การผลิตบุคลากร ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ให้รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเน้น 4 ยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาภาคใต้และประเทศ และมุ่งสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของอาเซียน คือ การสร้างกลไกการทำงานเชิงรุก สร้างความเป็นผู้นำวิชาการ สร้างความเป็นนานาชาติ และ พัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ ได้ขยานความถึง "กองทุน 50 ม.อ.เพื่อเพื่อนมนุษย์" ว่า เป็นการจัดตั้งขึ้นต่อเนื่องจากการระดมทุนเมื่อครั้งการจัดกิจกรรมครบรอบ 45 ปีของมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปดูแลศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันที่ประสบภัย ทั้งจากสาธารณภัย ภัยธรรมชาติ ภัยจากความไม่สงบ และการประสบอุบัติเหตุ ในกรณีที่ต้องใช้งบประมาณในการดูแลมากกว่ากฎเกณฑ์ปกติที่ได้ตั้งเอาไว้ เช่น การดูแลรักษาที่ต้องใช้เวลานาน เป็นต้น ซึ่งในปี 2559 ได้ให้การช่วยเหลือเยียวยาศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันไปแล้ว 6 ราย นอกจากนั้น จะใช้เพื่อสนับสนุนงานวิจัยที่สร้างความเป็นเลิศทางวิชาการเพื่อการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งเอเชีย และ สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมทางวิชาการและสำนักงานศิษย์เก่า โดยสามารถบริจาคได้ตามจิตศรัทธาและสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้