เตือนภัยยารักษาสิวเสี่ยงทำให้เด็กพิการ

จันทร์ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๘ ๑๑:๐๙
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เตือนหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่วางแผนมีบุตรไม่ควรซื้อยารักษาสิวรับประทานเอง เพราะสามารถทำให้เด็กมีโอกาสพิการได้ แนะให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อวางแผนในการรักษา เพราะยาบางชนิดอาจจำเป็นต้องคุมกำเนิดทั้งก่อนและหลังรับประทาน

ศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องของยารักษาสิวกับการตั้งครรภ์ว่านั้น ปัจจุบันมียารักษาสิวประเภทกรดวิตามินเอ ที่มีชื่อว่า Isotretinoin (ไอโซเทรติโนอิน) เป็นยารักษาสิวชนิดที่มีผลข้างเคียงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยขณะที่รับประทานยาจำเป็นที่จะต้องคุมกำเนิดร่วมด้วย และหลังจากหยุดยาแล้วต้องคุมกำเนิดต่ออีกประมาณ 1 เดือน เนื่องจากยาชนิดดังกล่าวจะมีผลต่อเด็กในครรภ์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสั่งจ่ายจากแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังเท่านั้น แต่ทั้งนี้กลับพบว่ายาดังกล่าวสามารถหาซื้อได้ง่ายไม่ว่าจะเป็นจากร้านขายยาทั่วไป ร้านทำผม หรือแม้กระทั่งในโลกออนไลน์โซเชียลมีเดียที่มีการแพร่ระบาดของยาชนิดนี้อยู่ในปัจจุบัน

ศ.นพ.ประวิตร กล่าวว่า ยาชนิดนี้เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้สิวที่เป็นอยู่ยุบตัวลงและช่วยในเรื่องของการควบคุมความมันบนใบหน้า ซึ่งในหมู่คนที่รู้จักและคุ้นเคยกับยาชนิดนี้จะเรียกว่า "ยาหน้าใส" แต่โดยความจริงแล้ว ยาชนิดนี้แม้จะเป็นยาที่ดี แต่ก็ผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่น เมื่อรับประทานไปแล้วปากแห้ง ในบางบางรายมีผมร่วง มีค่าเอนไซม์ตับหรือมีค่าไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อรับประทานยาชนิดนี้ต่อเนื่องนาน ๆ ก็ควรต้องมีการตรวจเลือดอย่างน้อย 1-2 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายเราสามารถรับยาได้ โดยเฉพาะผลข้างเคียงในผู้หญิงขณะตั้งครรภ์ เมื่อรับประทานยาชนิดนี้เข้าไปแล้ว สามารถทำให้เด็กมีโอกาสพิการได้หลายรูปแบบ เช่น เกิดการพิการทางกะโหลกศีรษะ สมอง หัวใจ แขนขา เป็นต้น นอกจากนี้ในบางรายอาจมีผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ หรือในผู้ที่รับประทานยาโดยไม่ได้อยู่ในการควบคุมของแพทย์อาจทำให้มีอาการซึมเศร้า ซึ่งอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้อีกด้วย

ศ.นพ.ประวิตร กล่าวต่อว่า ยาที่ใช้ในการรักษาสิวแต่ละประเภท ได้ถูกออกแบบมาตามลักษณะความรุนแรงของสิว หากสิวมีความรุนแรงน้อย เช่น สิวอุดตัน สามารถใช้ยาทา ก็จะพอช่วยลดอาการของสิวลงได้ แต่ถ้าสิวมีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีลักษณะเป็นไตลึก ๆ มีตุ่มหนองเกิดขึ้นเยอะหรือมีไข้ร่วมด้วย อาจต้องใช้ยารับประทาน ทั้งนี้ควรอยู่ในการพิจารณาของแพทย์เป็นหลัก เพราะถ้าความรุนแรงของสิวไม่มาก ยาที่ใช้จะเป็นยาในกลุ่มลดการอักเสบ หรืยาทาเพื่อลดการอุดตันของรูขุมขน แต่ในกรณีที่รับประทานยาหลายชนิดแล้วไม่ดีขึ้นก็จำเป็นต้องใช้ยากลุ่มของกรดวิตามินเอในการรักษา โดยแพทย์จะพิจารณาใช้ยาชนิดนี้เป็นยาตัวท้าย ๆ เพราะมีผลข้างเคียงที่รุนแรง โดยเฉพาะกับผู้หญิงในช่วงวัยที่แต่งงานแล้วหรือกำลังวางแผนที่จะมีบุตร การประเมินความเหมาะสมในการใช้ยาควรมาจากแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังเท่านั้นซึ่งในต่างประเทศเองได้ให้ความสำคัญกับข้อบังคับในการใช้ยาชนิดนี้เป็นอย่างมาก โดยต้องตรวจก่อนว่าไม่ตั้งครรภ์ในขณะที่เริ่มทานยา และในระหว่างที่ทานยาก็ต้องดูรอบเดือนด้วยว่าไม่ตั้งครรภ์จนกว่าจะหยุดยา แต่ในประเทศไทยกลับพบว่ายาดังกล่าวสามารถสั่งซื้อได้ง่าย ดังนั้นผู้บริโภคต้องควรระวังเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ตามปกติตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ขายยาชนิดนี้อยู่แล้ว แต่ก็ยังพบว่ามีการขายแบบผิดกฎหมายอยู่ โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก ไม่ควรสั่งซื้อยาเพื่อมารับประทานเอง โดยหลงเชื่อจากคำโฆษณาหรือการบอกต่อถึงสรรพคุณของยา เพราะนอกจากผลข้างเคียงของยาแล้ว เราอาจไม่รู้เลยว่ายาที่กำลังรับประทานอยู่นั้นเป็นยาปลอมหรือไม่

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ