นายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ เป็นต้นมา จังหวัดสระแก้ว และกรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์ปราสาทสด๊กก๊อกธมตามหลักการอนุรักษ์และบูรณะ โดยวิธีอนัสติโลซิส บนพื้นฐานงาน
โบราณคดี และในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ ได้ดำเนินการปรับสภาพภูมิทัศน์ให้ได้ ตามมาตรฐานสากลของอุทยานประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว อิงประวัติศาสตร์ของจังหวัดสระแก้ว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจของพี่น้องประชาชน และประชาสัมพันธ์ให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศได้รับรู้
"จังหวัดสระแก้ว จึงได้กำหนดจัดงาน แสง สี เสียง อิงประวัติศาสตร์ "บูชาเทวัญ ราชันย์ภิเษก เอกบูรพา ปราสาทสด๊กก๊อกธม" ระหว่างวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ – ๒ มีนาคม ๒๕๖๑ เนื่องด้วยตรงกับวันพระจันทร์เต็มดวง โดยศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ลัทธิไศวนิกายที่ปรากฏ ณ ปราสาทสด๊กก๊อกธม ได้มีความเชื่อว่า พระจันทร์เป็นส่วนหนึ่งของพระศิวะมหาเทพ เทพผู้เป็นใหญ่ในสามโลกซึ่งเล่าเรื่องราวย้อนหลังไปหลายร้อยปี ตั้งแต่เริ่มต้นวัฒนธรรมเขมร จนรวมเป็นปึกแผ่นโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒" ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าว
สำหรับปราสาทสด๊กก๊อกธม หรือ ปราสาทสด็อกก็อกธม เป็นปราสาทขอม ซึ่งเป็นโบราณสถาน ที่ใหญ่และสำคัญ ของจังหวัดสระแก้ว ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านหนองเสม็ด หมู่ที่ ๙ ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว อยู่ห่างจากอำเภออรัญประเทศไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๓๕ กิโลเมตร อยู่ห่างจากอำเภอตาพระยามาทางทิศใต้ ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร จัดเป็นปราสาทหิน ขนาดใหญ่ที่สุด ในภาคตะวันออกของ ประเทศไทย
ปราสาทสด๊กก๊อกธมสร้างขึ้นด้วยหินศิลาแลง ตามลักษณะศิลปะขอมแบบคลัง-บาปวน สร้างเสร็จ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ ในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ ๒ (Udayadityavarman II) ในบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของปราสาท มีคำจารึกเป็นภาษาสันสกฤต ความยาว ๓๔๐ บรรทัด ระบุความเป็นมาของการก่อสร้างปราสาทแห่งนี้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีคุณค่าและสำคัญยิ่งของปราสาทสด๊กก๊อกธม คือ การพบหลักศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม (หลักที่ ๒ ) ซึ่งจดบันทึกเรื่องราว ประวัติศาสตร์ของชนชาติขอมเป็นช่วงระยะเวลานานถึง ๒๐๐ ปี นับจากรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ (พ.ศ. ๑๓๔๕-๑๓๙๓) กษัตริย์ ผู้สถาปนาอาณาจักรเมืองพระนคร (Angkor) และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบเทวราช ในจารึกได้กล่าวถึงกษัตริย์อีกหลายพระองค์ จนถึงสมัยพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ ๒
โดยศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม (หลักที่ ๒) เสมือนเป็นกุญแจไขความลับลำดับการครองราชย์แห่งราชวงศ์ ขอมโบราณและตระกูลพราหมณ์ที่อยู่เคียงข้างราชวงศ์ ส่วนศิลาจารึกสด๊กก๊อกธม (หลักที่ ๑) ได้ระบุถึงการดูแลเทวสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู โดยเฉพาะจากการเสวนาทางวิชาการที่จัดโดยสำนักศิลปากรที่ ๕
ปราจีนบุรี ก็ได้มีการกล่าวถึงการจัดแสดงเพื่อสะท้อนความเป็นจริงแห่งสถานที่ ตามข้อความที่ปรากฏบนหลักศิลาจารึก อีกทั้งเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ทุกท่านผู้มาเยือนสถานที่แห่งนี้ รวมถึงการจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณชน ถึงประวัติความเป็นมา ที่ถูกต้องแห่งสถานที่ อีกทั้งในด้านความเชื่อในเรื่องของเทพเจ้าของคนไทยก็ยังมิได้เสื่อมคลายไปจากสังคมและวัฒนธรรมไทย ยังคงปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระแก้วจึงทำการปรับเปลี่ยน จึงขอเชิญชวนท่านสื่อมวลชน แขกผู้มีเกียรติ ร่วมงานแสง สี เสียง อิงประวัติศาสตร์ "บูชาเทวัญ ราชันย์ภิเษก เอกบูรพา ปราสาทสด๊กก๊อกธม" ณ ปราสาทสด๊กก๊อกธม ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ในระหว่างวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ – ๒ มีนาคม ๒๕๖๑ นี้