นายเกรียงศักดิ์ วาณิชย์นที หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "เอไอเอสมีวิสัยทัศน์สำคัญในการนำเครือข่ายและนวัตกรรมดิจิทัล มาพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรในทุกภาคส่วนโดยปีนี้ เราเน้นนำเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยการมุ่งมั่น สร้างเครือข่าย AIS NB-IoT ขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานอุปกรณ์ IoT ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งขณะนี้ ครอบคลุมแล้วทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งหัวเมืองใหญ่อีก 9 จังหวัดทั่วประเทศ
สำหรับความร่วมมือกับบริษัท ปตท. ในครั้งนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนานวัตกรรม IoT เพื่อขยายขีดความสามารถของภาคธุรกิจพลังงานของประเทศให้ก้าวไปอีกขั้น ด้วยนวัตกรรมดิจิทัลที่คิดค้นและสร้างสรรค์ด้วยฝีมือคนไทยเอง โดยเป็นการร่วมกันทดสอบอุปกรณ์ IoT ที่ถูกพัฒนาขึ้น บนระบบการใช้งานจริงทั้งลักษณะที่เป็นตัวต้นแบบ และแบบสำเร็จ พร้อมใช้ในงาน บนระบบท่อส่งก๊าซได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง นำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ด้านวิศวกรรมประสบการณ์ ตลอดจนข้อมูลทางวิชาการของทั้งสองบริษัท เพื่อประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรม ในอนาคตต่อไป"
นายยุทธนา วิญญูพงศ์พันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. มีภารกิจในการบริหารจัดการรับ-ส่งก๊าซธรรมชาติ ผ่านโครงข่ายท่อส่งก๊าซฯ กว่า 4,000 กิโลเมตร ที่พาดผ่านทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ตลอดจนการบำรุงรักษาท่อส่งก๊าซฯ เพื่อให้สามารถขนส่งก๊าซธรรมชาติได้อย่างรวดเร็วต่อเนื่อง และมีความปลอดภัยสูงสุด เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า และภาคการขนส่ง
การบำรุงรักษาตรวจสอบระบบ Cathodic Protection เป็นหนึ่งในงานที่มีความสำคัญในการป้องกัน ท่อส่งก๊าซฯ จาก External Corrosion ซึ่ง ปตท. มุ่งเน้นการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและเป็นผู้นำทางด้านวิศวกรรมบำรุงรักษาท่อส่งก๊าซฯ ในระดับสากล จึงนำมาสู่ "ความร่วมมือสนับสนุนพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสาร NB-IoT หรือ Narrow Band Internet of Things เพื่องานปฏิบัติการและบำรุงรักษาท่อส่งก๊าซธรรมชาติ" ระหว่าง ปตท. โดย สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และสถาบันนวัตกรรม ปตท. ที่มีความเชี่ยวชาญในงานวิจัยพัฒนาทางวิศวกรรมและเอไอเอส ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีสื่อสาร ในการนำเทคโนโลยี IoT และโครงข่ายดิจิทัล มาช่วยลดขั้นตอนและเพิ่มความสามารถ ในการตรวจสอบระบบ Cathodic Protection เพื่อให้งานบำรุงรักษาท่อส่งก๊าซธรรมชาติเกิดประสิทธิภาพ อย่างสูงสุด ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนา ตลอดจน การบูรณาการเทคโนโลยีการสื่อสารและองค์ความรู้ทางวิศวกรรมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ประสบความสำเร็จดังวัตถุประสงค์ อันจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศต่อไป"
นางสาวดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม ปตท. กล่าวเสริมว่า "สถาบันนวัตกรรม ปตท. ในฐานะผู้นำเอาเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์และประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจขององค์กร มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในการนำเอาเทคโนโลยี Internet of Thing ซึ่งเป็นการนำเอาเครือข่ายสื่อสารที่ถือเป็น Mega Trend ของโลก มาใช้กับกระบวนการ อันมีความสำคัญยิ่งของ ปตท. อันได้แก่ งานบำรุงรักษาท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยทางสถาบันนวัตกรรม ยินดีและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและใช้องค์ความรู้และความสามารถทางด้านการวิจัยและพัฒนา มาต่อยอดเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติ รวมถึงแสวงหาโอกาสในการนำเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในงานด้านอื่นๆ ต่อไป"