รายงานจากหน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรมของเจแอลแอล ระบุว่า ในปีที่ผ่าน มีการซื้อขายโรงแรมเกิดขึ้นในไทยอย่างน้อย 12 รายการ รวมมูลค่า 17,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ราว 70% และสูงกว่ามูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายปีระหว่างปี 2555 ถึง 2559 ซึ่งมีระดับเฉลี่ยที่ประมาณ 12,200 ล้านบาทต่อปี
เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายในปีที่ผ่านมา พบว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีการซื้อขายโรงแรมมูลค่ารวมสูงสุด คือ 14,000 ล้านบาท หรือราว 80% ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเป็นการซื้อขายโรงแรมทั้งสิ้น 6 รายการ ได้แก่ เดอะ บางกอก เอดิชั่นในโครงการมหานคร (รวมจุดชมวิว มหานคร อ็อบเซอร์เวชั่น เด็ค) ขายให้กับกองทุนจากอเมริกา, โรงแรมขนาด 34 ชั้นที่สร้างค้างไว้ที่ปากซอยสุขุมวิท 27 ขายให้กับกลุ่มคาร์ลตัล โฮเทลจากสิงคโปร์; โรงแรมพรีเมียร์อินน์ ขายให้กับกลุ่มวีโฮเทลจากสิงคโปร์, ซัมเมอร์เซ็ท เลค พอยท์ ขายให้กับเจอาร์ คิวชูจากญี่ปุ่น, สวิสโซเทล นายเลิศ ปาร์ค ขายให้กับกรุงเทพดุสิตเวชการ และเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ในย่านทองหล่อ ซึ่งเข้าซื้อโดยนักลงทุนประเภทบุคคล
ส่วนตัวอย่างการซื้อขายโรงแรมรายการสำคัญๆ ในหัวเมืองอื่นๆ ในปีที่ผ่านมา ได้แก่ ดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท เชียงราย, ปิลันธา รีสอร์ท ที่เกาะพีพี และโรงแรมพรีเมียร์อินน์พัทยา ซึ่งเป็นหนึ่งในสองโรงแรมของพรีเมียร์อินน์ที่กลุ่มวีโฮเทล จากสิงคโปร์เข้าซื้อ
นอกจาก 2560 จะเป็นปีที่มีการซื้อขายโรงแรมเกิดขึ้นรวมมูลค่าสูงสุดแล้ว ยังเป็นปีหนึ่งที่มีทุนต่างชาติเข้ามาซื้อโรงแรมในไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยคิดเป็นกว่า 50% ของมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุนจากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และอเมริกา
นายไมค์ แบทเชเลอร์ ซีอีโอภาคพื้นที่เอเชีย หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม เจแอลแอล กล่าวว่า "จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการที่ภาคธุรกิจโรงแรมมีผลประกอบการที่ดี หนุนด้วยการมีเสถียรภาพทางการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนให้ความสนใจสูงต่อตลาดโรงแรมของไทย"
สถิติจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า ในปี 2560 มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยรวมกว่า 35 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.6% จากปี 2559 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 ล้านคนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนในปีนี้ คาดว่าจะมีจำนวนชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 37.6 ล้านคน
นายแบทเชเลอร์เชื่อว่า ตัวเลขประมาณการณ์ดังกล่าวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะมีความเป็นได้แน่นอน ทั้งนี้ เฉพาะกรุงเทพฯ ในปีที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากถึง 21 คนและยังได้รับการจัดอันดับโดยมาสเตอร์การ์ดให้เป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากที่สุดในโลก นอกจากนี้ คาดว่ากรุงเทพฯ จะมีชื่อเสียงมากขึ้นไปอีกในฐานะเมืองที่มีความโดดเด่นด้านอาหาร จากการที่มีการจัดทำคู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พักระดับโลก 'มิชลิน ไกด์' ฉบับกรุงเทพฯ (MICHELIN Guide Bangkok) ออกมาฉบับแรกเมื่อเร็วๆ นี้"
"นอกจากนี้ การพัฒนาการเชื่อมโยงการเดินทางเป็นหนึ่งในนโยบายหลักสำหรับประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการขยายสนามบินนานาชาติหลายแห่งที่กำลังดำเนินการและอยู่ระหว่างการวางแผน การเพิ่มเที่ยวบินต้นทุนต่ำใหม่ๆ และการก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการเดินทางระหว่างจังหวัด" นายแบทเชเลอร์กล่าว
โครงการขยายสนามบินหลายแห่งที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการและที่ใกล้แล้วเสร็จ จะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถรองรับการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากขึ้น โดยสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิและสนามบินนานาชาติดอนเมืองจะสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้ 100 ล้านคน ในขณะที่สนามบินอู่ตะเภามีแผนจะขยายในปีนี้ ส่วนที่พังงา แผนการขยายสนามบินกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการสร้างสนามบินขึ้นที่เขาหลักในอนาคต เช่นเดียวกับที่หัวหิน
"การลงทุนซื้อขายโรงแรมที่เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา ตอกย้ำให้เห็นว่า ตลาดการลงทุนโรงแรมในไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ดี จากการที่ปีนี้มีโรงแรมคุณภาพเหมาะสมสำหรับการลงทุนมีเสนอขายไม่มาก คาดว่า มูลค่าการลงทุนซื้อขายโรงแรมในไทยของปีนี้จะไม่สูงเท่ากับปีที่ผ่านมา โดยอาจมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 10,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นเฉลี่ยรายปีในปีก่อนๆ หน้า" นายแบทเชเลอร์สรุป