ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า "ทีเซลส์เล็งเห็นถึงความสำคัญถึงการลดความเลื่อมล้ำในสังคมตามนโยบายรัฐบาล การอบรมครั้งนี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ทราบถึงการดูแลตนเองให้ห่างไกลอัลไซเมอร์ โดยปีนี้เป็นปีที่ 9 ที่ได้ดำเนินงานร่วมกับทางมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยเหลือสังคมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะบทบาทในการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ทีเซลส์ ร่วมกับ ศูนย์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ, มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย และ Mobile Computer Lab มหาวิทยาลัยนเรศวร สร้างสรรค์แอปพลิเคชันที่ส่งเสริมการออกกำลังสมองผ่านตัวการ์ตูนเพิ่มสีสันในสื่อสารให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยเชื่อมโยงข้อมูลการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์มาผสมผสานให้เข้าถึงเทคโนโลยีในยุคนี้ ในรูปแบบแอปพลิเคชัน สำหรับคนที่ใช้สมาร์ทโฟนระบบ Android เสิร์ธแอปพลิเคชันผ่าน Play Store และระบบ iOS (iPhone) เสิร์ธแอปพลิเคชันผ่าน App Store ชื่อ "Alz Calendar" หรือที่เรียกว่า "365 วันป้องกันอัลไซเมอร์" จะเป็นการฝึกฝนที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังสมองทั้ง 365 วัน แบ่งเป็นการทำงานของสมองด้านต่างๆ ให้สามารถเกิดกิจกรรมในการออกกำลังสมองที่หลากหลาย เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ต่อไป สามารถดาว์นโหลดได้แล้ววันนี้ที่ Alz Calendar"
"แนวทางการดำเนินงานในอนาคตของทีเซลส์ จะนำเอาความรู้ และเทคโนโลยี ทางการแพทย์แบบองค์รวมมาใช้เพื่อพัฒนางานบริการสำหรับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์กันการพลัดหลง หรือ แม้แต่ต้นแบบอุปกรณ์ที่ช่วยติดตามกิจกรรมของผู้สูงอายุ เพื่อประโยน์ทางการรักษา รวมถึงเทคโนโลยีการใช้สารสกัดธรรมชาติ หรือ Stem Cell ในการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือ แม้แต่ต้นแบบอุปกรณ์ทางเครื่องมือแพทย์ที่อำนวยความสะดวกด้านการรักษา ทีเซลส์ก็จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา ให้ใช้ได้จริงในอนาคต เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามลำดับ" ดร.นเรศ กล่าว
คุณหญิงอุไรวรรณ ศิรินุพงศ์ รองประธานมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "กิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ "สร้างสรรค์สังคมไทย ห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 9" ทางมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน รวมถึงศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ที่จับมือร่วมเดินทางสร้างสรรค์สังคมไทย ห่างไกลอัลไซเมอร์ กับทางมูลนิธิฯ มาตลอดระยะเวลาถึง 9 ปี วัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ทางมูลนิธิฯ มุ่งหวังให้สังคมได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของปัญหาโรคอัลไซเมอร์ ให้ทุกภาคหน่วยงานร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในการป้องกัน และดูแลตนเอง ดูแลญาติ รวมถึงให้ความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่ถูกต้องอย่างเหมาะสม และช่วยให้คุณภาพชีวิตทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลดีขึ้น"
"สำหรับกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เชี่ยวชาญจากหลายสาขามาเป็นวิทยากรในการอบรมครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมผสมผสานองค์ความรู้ต่างๆ กิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุประกอบด้วย 6 รายวิชา ได้แก่ วิชาวิทยาศาสตร์ ออกกำลังสมอง, วิชาพลศึกษา ออกกำลังกาย, วิชาเทคโนโลยีศึกษา การใช้อินเตอร์เน็ต, Line และ Application, วิชาคหกรรมศึกษา สาธิตอาหารสุขภาพ เพื่อป้องกันโรค อัลไซเมอร์, วิชาสุขศึกษา กิจกรรมการผ่อนคลายความเครียด และ วิชาดนตรีศึกษา ดนตรีบำบัด เพื่อสร้างสมาธิและความจำ พร้อมชมนิทรรศการความรู้เรื่องโรคอัลไซเมอร์ และบูธกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย" คุณหญิงอุไรวรรณ กล่าว
ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ รองประธานกรรมการและเลขานุการมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า "มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย เห็นถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ มูลนิธิฯ มีความตั้งใจในการรณรงค์ในเรื่องของคุณภาพชีวิต เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยของโรคอัลไซเมอร์ และลดภาระให้กับสังคม กิจกรรมในวันนี้เป็นการดำเนินงานในเชิงป้องกัน พร้อมทั้งฟังการบรรยายในหัวข้อ "การปรับตัวในผู้สูงอายุและแนวทางการป้องกันโรคอัลไซเมอร์" เกร็ดความรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตให้ห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์ โดยคาดว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำความรู้กลับไปใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด และทางมูลนิธิฯจะดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือสังคมผู้สูงอายุสืบต่อไป"