CHOW โชว์กำไรปี 60 พุ่ง 736% บอร์ดไฟเขียวขายโรงไฟฟ้าเข้ากองทุนฯเพิ่มอีก 6.13 MW

พุธ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๘ ๑๗:๒๘
CHOW โชว์ผลงานปี 60 เยี่ยมกำไรพุ่งกว่า 736% พุ่งจาก 36 ลบ.ในปี 59 มาเป็น 307 ลบ.หลังธุรกิจเหล็กฟื้น/บริษัทลูกสร้างรายได้แข็งแกร่ง และฟันกำไรจากการขายโรงไฟฟ้า 4.43 MW เข้ากองทุนญี่ปุ่น ด้านที่ประชุมบอร์ดมั่นใจแผนธุรกิจไปได้สวย ไฟเขียวขายโรงไฟฟ้าเข้ากองทุนฯเพิ่มอีก 6.13 MW พร้อมยืนยันส่ง CEPL เข้าตลาดฯ

นายอนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กแท่งยาว (Steel Billet) รายใหญ่ของประเทศ และธุรกิจพลังงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ผ่านบริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัทย่อย เปิดเผยถึงผลประกอบการประจำปี 2560 ว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 270 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 736 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มีกำไรสุทธิรวม 36 ล้านบาท หลังจากธุรกิจเหล็กฟื้นตัวต่อเนื่องและบริษัทลูก บริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ CEPL มีผลการดำเนินงานเป็นกำไรอย่างแข็งแกร่ง และรับรู้กำไรจากการขายโรงไฟฟ้าเข้ากองทุนญี่ปุ่น

โดยในปี 2560 บริษัทฯมีรายได้จำนวน 4,222 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,481 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มีรายได้รวมจำนวน 2,741 ล้านบาทสำหรับรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากรายได้การจำหน่ายเหล็กเพิ่มขึ้น 795 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54 จากปริมาณขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 และราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 10เนื่องจากบริษัทสามารถขายเหล็กแท่งเพิ่มขึ้นและหาตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ธุรกิจพลังงาน มีรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าและการซื้อมาขายไปของวัสดุและอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสูงขึ้น 125 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จากจำนวนโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นซึ่งมีกำลังการผลิตสูงขึ้นจากปีก่อนจำนวน 23.7 MW ต่อปีซึ่งโครงการ Hamada1 และHamada2 ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในเดือนมีนาคม และ เมษายน ปี 2560 และ โครงการ Rooftop ที่จำหน่ายไฟฟ้าเต็มปีในปี 2560 (ปีก่อนเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเต็มเดือนในเดือน ตุลาคม 2559) ทั้งยังรับรู้กำไรจากการขายโครงการโรงไฟฟ้าที่ประเทศญี่ปุ่น 2 โครงการ เป็นจำนวน 172 ล้านบาทในเดือนตุลาคมปี 2560

"ภาพรวมธุรกิจเหล็กในปี 2560 มีการทยอยฟื้นตัวและการทยอยปรับขึ้นของราคาตลาด แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงมีต้นทุนค่าเสื่อมราคาของโรงงานแห่งที่ 1 ที่ได้หยุดการผลิต ส่งผลให้การดำเนินงานขาดทุน แต่ในปี 2561 บริษัทมีการกลับมาเริ่มเปิดผลิตโรงงานแห่งที่1 เพื่อรองรับความต้องการของตลาดเหล็กที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ และเป็นผลให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลงจากปริมาณผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผลการดำเนินงานมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจพลังงานที่ภาพรวมธุรกิจพลังงานในปี 2560 กลุ่มบริษัทก็มีการลงทุนเพิ่มเติมในหลายโครงการ เพื่อรองรับการขยายการลงทุนตามแผนธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และจะเติบโตต่อเนื่องมาในปี 2561 สอดคล้องกับจำนวนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น" นายอนาวิล กล่าว

ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ในการกระชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมาที่ประชุมได้มีมติอนุมัติให้บริษัทย่อยทางอ้อมขายโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่นอีก 3 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 6.13 เมกะวัตต์ มูลค่าประมาณ 2,515 ล้านเยน (หรือเทียบเท่า 736.0 ล้านบาท อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน 0.292648 บาทต่อเยน ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561) โดยจะรับรู้รายได้ในเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งเป็นไปตามแผนธุรกิจว่าด้วยการขายทรัพย์สินเข้ากองทุนฯ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินทรัพย์เพื่อสร้างผลกำไร สำหรับเตรียมกระแสเงินสดเพื่อรองรับการลงทุนใหม่เกี่ยวกับพลังงานทดแทน และ/หรือ ชำระหนี้ และ/หรือ เงินทุนหมุนเวียน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ หลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามจากการขายโครงการโรงไฟฟ้าให้กับกองทุนชุดแรกจำนวน 4.43 เมกะวัตต์เมื่อปีที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯยังได้ยืนยันการนำบริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (CEPL) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เพื่อเปิดทางให้สามารถระดมทุนได้ด้วยตัวเอง รองรับโอกาสการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น ที่กำลังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และยังได้มีมติให้ CHOW เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท แบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวน 240,000,000 บาท จากเดิม 800,000,000 บาท เป็น 1,040,000,000 บาท โดยออกหุ้นสามัญจำนวน 240,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นการเพิ่มทุนจะให้เป็นสัดส่วนของผู้ถือหุ้นเดิมไม่เกิน 160,000,000 หุ้นและ เป็นสัดส่วนของบุคคลในวงจำกัดจำนวนไม่เกิน 80,000,000 หุ้น ซึ่งถือเป็นช่องทางการระดมทุนอีกช่องทางหนึ่งที่บริษัทฯเตรียมไว้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต หากมีความจำเป็นต้องใช้งบสำหรับการลงทุน ซึ่ง CHOW ได้ขออนุมัติต่อคณะกรรมการไว้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้วสำหรับการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate)ในครั้งนี้

"มติบอร์ดเรื่องอนุมัตินำ บริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET หรือ mai จะนำเข้าสู่ที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาในวันที่ 26 เมษายน 2561 นี้ ซึ่งหากที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติเห็นชอบตามที่ที่ประชุมบอร์ดเสนอ ทางบริษัทฯ ก็จะเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เพื่อให้สามารถระดมทุนรองรับโอกาสทางธุรกิจที่เข้ามาได้อย่างทันช่วงที ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องทำให้บริษัทมีผลประกอบที่ดีขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้ถือหุ้นจะได้รับประโยชน์จากมูลค่ากิจการที่เพิ่มขึ้น"นายอนาวิล กล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ที่ประชุมผู้ถือหุ้น CHOW ได้มีมติอนุมัติให้นำบริษัท เชาว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ โดยมีแผนจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 490,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยจัดสรรเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pre-emptive Rights) จำนวน122,500,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท และจัดสรรจำนวน 367,500,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท และหุ้นที่เหลือจากการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pre-emptive Rights) เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 490,000,000 หุ้น จะส่งผลให้ CHOW มีสัดส่วนการถือหุ้นสามัญของ CEPL ภายหลังเข้าจดทะเบียนฯ ลดลงจากร้อยละ87.36 เหลือร้อยละ 61.10 ของทุนชำระแล้ว จำนวน 815,000,000 บาท หรือสัดส่วนการถือหุ้นลดลงร้อยละ 26.26

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม