ยโสธรเปิดงาน “ยโสธรออร์แกนิกแฟร์ 2018” พร้อมพิธีลงนาม MOU การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ เป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ยโสธร 2.5 แสนไร่ ในปี 2564

จันทร์ ๐๕ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๒:๑๖
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมพิธีเปิดงาน "ยโสธรออร์แกนิกแฟร์ 2018" เกษตรอินทรีย์วิถียโสธร 2561 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 มี.ค. 2561 โดยมีนายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน พร้อมทั้งร่วมเสวนาพิเศษในหัวข้อ "การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์" ร่วมกับ นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ก่อนร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 ระหว่าง นายนิกร สุกใส ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ และนายเมธี สุพรรณฝ่าย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ณ สวนสาธารณะบุ่งน้อย-บุ่งใหญ่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร

ดร.วิวัฒน์ กล่าวว่า จ.ยโสธร มีการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง และได้กำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.ยโสธรมาโดยตลอด ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดแนวทางการทำงานอย่างจริงจังร่วมกัน ระหว่างชาวยโสธรกับทุกภาคส่วน สำหรับตัวเลขการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์พบว่าทั้งพื้นที่การปลูก ผลผลิตเฉลี่ย/ไร่ และรายได้จากการจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2558 จากข้อมูลของสำนักงานสถิติจังหวัด พบว่า มีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 40,000 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย396 กก./ไร่ สร้างรายได้จากการจำหน่าย 276,952,500 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 19,251 ไร่ ผลผลิต/ไร่ 386 กก./ไร่ และสร้างรายได้เพียง 118,880,000 บาท และในปี2559 จ.ยโสธรได้ถูกยกให้เป็นจังหวัดต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศ จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2559 วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาและสร้างให้ จ.ยโสธร เป็นจังหวัดต้นแบบเกษตรอินทรีย์ของประเทศ ครอบคลุม ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์เดิม และขยายพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์อีก 60,000 ไร่ ให้เป็น 100,000 ไร่ ภายในปี 2561

"เกษตรอินทรีย์เป็นงานหลักที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เร่งทำให้เกิดเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยซึ่งต้องอาศัยกลไกความร่วมมือและการบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการบูรณาการในระดับจังหวัด โดยนำเอาโมเดลที่ประสบความสำเร็จแล้วอย่างยโสธรโมเดลมาขยาย ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากร่วมมือกันทำให้เป็นเสมือนกรมเดียวกันทั้งจังหวัด ก็สามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ชาติได้ สำหรับงบประมาณในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีทั้งงบปกติและงบรายพื้นที่ รวมทั้งงบเฉพาะกิจที่จะนำออกมาดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะมาสร้างความพอเพียงให้ประชาชน และพัฒนาให้ความยากจนนั้นหายไป ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ซึ่ง 4 จังหวัดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น" รมช.เกษตรฯ กล่าว

ทั้งนี้ ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นของการร่วมมือในการดำเนินการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ที่ครอบคลุมทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง เพื่อให้เป็นต้นแบบการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศได้อย่างยั่งยืน จึงได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้เป็นเป็นที่รู้จัก และกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของกลุ่มจังหวัดให้มากขึ้น เป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ไม่น้อยกว่า 8.2 แสนไร่ ในปี 2564 ตลอดจนมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร ฉบับที่ 2 ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กับผู้แทนกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์จังหวัดยโสธร เป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของจังหวัดยโสธรเป็น 2.5 แสนไร่ ในปี 2564

นายสุธี เปิดเผยว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน มีความมุ่งมั่นจะส่งเสริมและร่วมพัฒนาอาชีพของประชาชนให้มีความเป็นดีอยู่ดี โดยเฉพาะเกษตรกรซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศไทย รวมทั้งใน จ.ยโสธร ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกิจกรรมโครงการเพื่อการพัฒนาสินค้าอินทรีย์ของไทยออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ มีการจัดงานแสดงสินค้าอินทรีย์ หรือ ออร์แกนิกไทยแลนด์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี สำหรับในปีนี้ จ.ยโสธร ได้กำหนดให้มีการจัดงาน "ยโสธรออร์แกนิกแฟร์ 2018" เกษตรอินทรีย์วิถียโสธรขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการทำเกษตรอินทรีย์ของจังหวัด และเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกร ผู้ทำเกษตรอินทรีย์ในจังหวัด กลุ่มจังหวัด และจังหวัดอื่น ๆ ได้ร่วมนำเอาสินค้าเกษตรอินทรีย์มาแสดงและจำหน่ายอีกด้วย

ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายของจังหวัดยโสธร ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเกษตรอินทรีย์มาโดยตลอด ตั้งแต่แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดยโสธร ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน เกษตรกรมีการทำเกษตรอินทรีย์มาอย่างยาวนาน มีการรวมกลุ่มอย่างเหนียวแน่น มีการพัฒนากระบวนการผลิตในวิถีเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง ผลผลิตได้รับการรับรองมาตรฐานนอกจากนี้ภายใต้วิสัยทัศน์ของจังหวัด ประกอบกับบันทึกข้อตกลงความร่วมโครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร ในปี 2559 ได้มีการขับเคลื่อนเพื่อขยายพื้นที่ตามยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์วิถียโสธร ปี 2559-2561 จนสามารถเพิ่มพื้นที่เข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ของจังหวัด เป็น134,000 ไร่ ในปี 2560

ทั้งนี้ การจัดงาน "เกษตรอินทรีย์วิถียโสธร 2561" เป็นการดำเนินการยุทธศาสตร์ที่ 4 เพิ่มตลาดและช่องทางการจำหน่ายในและต่างประเทศ ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพและกลยุทธ์ทางการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ ให้กับผู้บริโภค เพิ่มช่องทางการตลาดให้อย่างแพร่หลายและเป็นการแสดงศักยภาพและพัฒนาการความก้าวหน้าเกษตรอินทรีย์วิถียโสธรให้เป็นที่รับรู้ โดยในงานจะมีกิจกรรมประกอบด้วย 1. การนำเสนอผลการดำเนินงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์วิถียโสธร องค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ และการจัดนิทรรศการด้านเกษตรอินทรีย์ของจังหวัด 2. การเสวนาทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ 3. การออกร้านแสดงและจำหน่ายผลผลิต และผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของผู้ประกอบการในจังหวัดยโสธรและจังหวัดอื่น ๆ และ 4. การเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ผลิตกับผู้ประกอบการและเยี่ยมชมแหล่งเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดยโสธร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ