เปิดพื้นที่ต้นแบบรถพยาบาลอัจฉริยะ ดึงเทคโนโลยีมาสร้างสมองและตาของแพทย์ในรถพยาบาล ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉิน ทดแทนแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินที่มีไม่เพียงพอ

ศุกร์ ๐๒ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๕:๕๙
โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ร่วมกับ บริษัท เทลลี่ 360 จำกัด พาสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชม ต้นแบบระบบการบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ (Ambulance Operation Center) หรือ AOC เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที และลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชน

นพ.เฉลิมพงศ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ผ่านมาของไทย มีข้อจำกัดคือภาระงานมากเกินกว่ากำลังบุคลากร โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต ที่ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยฉุกเฉินมากกว่าปีละ 6 หมื่นคน ติดอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่มีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินเพียง 4 คนเท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้ทำให้โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตดึงเทคโนโลยี ระบบการบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ หรือ AOC มาช่วยพัฒนา และแก้ไขข้อจำกัดของการทำงาน ซึ่งจุดเด่นของระบบนี้คือจะสร้างสมองและดวงตาของแพทย์ให้อยู่ในรถพยาบาลทุกคัน และให้แพทย์ฉุกเฉินหนึ่งคนสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้นกว่าเดิม

ด้านนายแพทย์เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า ก่อนที่โรงพยาบาลจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ ก็ได้ศึกษาและพัฒนามาหลายรูปแบบ เริ่มแรกใช้ระบบวิทยุสื่อสาร ร่วมกับ VDO CALL แต่งานด้านการแพทย์ฉุกเฉินเราต้องการความรวดเร็วและแม่นยำมากกว่านั้น จึงมาลงตัวที่ระบบ AOC โดยข้อได้เปรียบคือ เจ้าหน้าที่บนรถ สามารถปรึกษาอาการกับแพทย์ที่โรงพยาบาลปลายทาง ผ่านระบบการสื่อสารด้วยภาพและเสียงแบบต่อเนื่องปัจจุบัน (real time) ได้ ซึ่งจะทำให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาลเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากไม่สามารถส่งแพทย์ฉุกเฉินไปกับรถพยาบาลได้ทุกครั้ง ส่วนใหญ่แพทย์ต้องคอยตั้งรับอยู่ที่โรงพยาบาล ดังนั้น ระบบ AOC จะช่วยให้แพทย์สามารถติดตามอาการและให้คำแนะนำกับเจ้าหน้าที่บนรถพยาบาลทุกคันได้โดยไม่ต้องอยู่บนรถ และสามารถเตรียมการรักษาได้อย่างถูกต้องทันท่วงที

" หลังนำระบบ AOC มาใช้ เพียง 3 เดือน ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในเคสหนักๆ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ซึ่งมีกว่า 30 เปอร์ซ็นต์ ล่าสุดมีผู้ป่วยหัวใจวายเฉียบพลัน ระบบนี้ทำให้แพทย์ที่โรงพยาบาลสามารถอ่านคลื่นหัวใจคนไข้ได้ตั้งแต่อยู่บนรถพยาบาล ทำให้มีการรักษาอย่างถูกจุด เตรียมยาและเครื่องมือในการรักษาไว้รอตั้งแต่ก่อนคนไข้มาถึงโรงพยาล ไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ที่ห้องฉุกเฉิน เพราะทุกวินาทีของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นมีค่ามาก"

ปัจจุบันโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ติดตั้งระบบ AOC แล้วในรถพยาบาล 9 คัน แต่ก็ยอมรับว่ายังไม่ครอบคลุมทั่วจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตถือเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำโครงการ และของบประมาณเพิ่มเติม เชื่อว่าในอนาคตจังหวัดภูเก็ตจะสามารถติดตั้ง ระบบ AOC ได้ในรถพยาบาล 24 คัน ครอบคลุมทุกอำเภอ

ด้านนายกิจกมน ไมตรี Founder & CEO บริษัท เทลลี่ 360 จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาระบบ กล่าวเพิ่มเติมว่า คิดค้นระบบนี้มา 2 ปี โดยพัฒนาร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ปัจจุบันมีหลายจังหวัดที่ติดตั้งระบบดังกล่าว อาทิ พระนครศรีอยุธยา เชียงราย กรุงเทพมหานคร ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นการคิดค้นและพัฒนาโดยคนไทย ทำให้งบประมาณในการผลิตลดลง จากเดิมที่ต้องสร้างระบบในรถพยาบาลคันละ 1 ล้านบาท เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ระบบ AOC ใช้งบประมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 450,000 บาท หรือลดลงกว่าครึ่ง แถมยังมีประสิทธิภาพเหนือกว่า และที่สำคัญเมื่อคิดค้นโดยคนไทย ทำให้ตอบโจทย์ และรู้ถึงธรรมชาติของระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ