การสัมมนาในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สถาบันการศึกษา และประชาชนจากจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ปัตตานี และยะลา รวมทั้งสิ้น 205 คน โดยมีการเสวนาและการบรรยายให้ความรู้แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
การสัมมนาในช่วงแรกเป็นการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองทางเศรษฐกิจภายใต้หัวข้อเรื่อง "โอกาสทางเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยมีนายกิตติ หวังธรรมมั่ง ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส นายพงศ์ศักดิ์ ชุติเชาวน์กุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนราธิวาส นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์เศรษฐกิจ มหภาค สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. และมีนางสาวคงขวัญ ศิลา เศรษฐกรชำนาญการ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. เป็นผู้ดำเนินรายการ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
นายพงศ์นคร โภชากรณ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในระยะที่ผ่านมาเริ่มมีการฟื้นตัวและขยายตัวได้ดีตามลำดับ ซึ่งเศรษฐกิจไทยในฐานะที่พึ่งพาการค้าโลกก็เริ่มกลับมาขยายตัวได้ดีในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2560 และ 2561 ยังขยายตัวได้ดี เมื่อติดตามเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา "โตแบบ 3 สูง" จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกสินค้า อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิด 6 ด้าน ได้แก่ กับดักรายได้ปานกลาง ขีดความสามารถในการแข่งขัน การเติบโตที่ไม่สมดุล ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ สังคมผู้สูงอายุ และภาระทางการคลังในอนาคต นอกจากนี้ นายพงศ์นครฯ ยังได้กล่าวถึงมาตรการที่ภาครัฐผลักดันเพื่อให้เกิดการเติบโตควบคู่การลดความยากจน เช่น ผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ
นายกิตติ หวังธรรมมั่ง กล่าวว่า ระยะเวลาที่ผ่านมาเศรษฐกิจภาพรวมดีแต่เศรษฐกิจของจังหวัดนราธิวาสไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน แต่ปัจจุบันสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากความร่วมมือของประชาชนที่ให้กับภาครัฐมีมากขึ้น บรรยากาศทางเศรษฐกิจจึงปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ยังคงมีความท้าทายอยู่บางประการ เช่น ราคาผลผลิตทางการเกษตรมีแนวโน้มปรับลดลง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวเนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักคือชาวมาเลเซียประสบปัญหาค่าเงินริงกิตที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้กำลังซื้อของชาวมาเลเซียลดลง ในส่วนของบรรยากาศการลงทุนนั้น ยังไม่ชัดเจนนักเนื่องจากแรงงานในท้องที่ย้ายเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยว นอกจากนี้ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การค้าขายออนไลน์ ก็ได้สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในท้องที่มากขึ้นเช่นกันจากต้นทุนที่ลดต่ำลง
นายพงศ์ศักดิ์ ชุติเชาวน์กุล กล่าวว่า จังหวัดนราธิวาสมีโครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาภาคการเกษตรเป็นหลัก การตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะช่วยบรรเทาปัญหาการย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ด้วยการสร้างงาน ดึงดูดแรงงานนอกพื้นที่เข้าสู่จังหวัดและยังสามารถแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุในพื้นที่ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมของจังหวัดนราธิวาสต้องมีทิศทางที่ชัดเจน ภาครัฐต้องมีบทบาทนำในการดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพ อาทิ นักลงทุนชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน
การสัมมนาช่วงที่ 2 เป็นการบรรยายเรื่อง "คุณออม รัฐช่วยออม คุณได้บำนาญกับ กอช." โดยได้รับเกียรติจากนางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นผู้บรรยาย สรุปสาระสำคัญดังนี้
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นองค์กรภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังเพื่อส่งเสริม ให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ หรือกองทุนเอกชนที่มีนายจ้างจ่ายสมทบแล้ว ให้ได้ออมเงินเพื่อภายหลังเกษียณ โดยรัฐจะช่วยจ่ายสมทบให้ส่วนหนึ่งและเมื่อผู้ออมมีอายุครบ 60 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญเป็นรายเดือนตลอดชีพ ผู้สนใจสามารถนำบัตรประชาชนไปสมัครเป็นสมาชิกกองทุนได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งนี้ ผู้ที่ยิ่งออมเร็วและออมในอัตราสูง ก็จะได้รับเงินบำนาญมากขึ้นตามสัดส่วน แต่สำหรับผู้ที่มีระยะเวลาหรือจำนวนเงินออมน้อย กอช. จะใช้เงินกองทุนจ่ายสมทบ ให้เป็นเงินดำรงชีพเดือนละ 600 บาท รวมกับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 รวมรับเดือนละ 1,200 บาท จนกว่าเงินในบัญชีจะหมด จากนั้นก็ได้รับเพียงเบี้ยยังชีพ
สำหรับกลุ่มผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิก กอช. เปิดกว้างตั้งแต่ช่วงอายุ 15-60 ปี ครอบคลุม ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น เกษตรกร ค้าขาย รับจ้างทั่วไป แม่บ้าน แพทย์ ทนายความ ลูกจ้างรายวัน นักการเมืองท้องถิ่น นิสิตหรือนักศึกษา เป็นต้น โดยสมาชิกต้องไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญภาครัฐหรือภาคเอกชนหรือกองทุนตามกฎหมายอื่น ซึ่งได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้างอยู่แล้ว โดยส่งเงินสะสมขั้นต่ำได้ตั้งแต่ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี โดยเงินที่สะสมนี้จะได้รับดอกเบี้ยจาก กอช. อีกด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของประชาชนในพื้นที่ที่เป็นชาวมุสลิม กอช. ได้มีการปรับปรุงนโยบายด้านการลงทุนให้สอดคล้องกับศาสนาอิสลาม
การสัมมนาช่วงสุดท้ายเป็นการบรรยายในหัวข้อ "รู้ลึก รู้จริง การเงินภาคประชาชน" โดยผู้บรรยาย ประกอบด้วย 1) นางสาวกฤติกา โพธิ์ไทรย์ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สศค. 2) นายชยเดช โพธิคามบำรุง สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สศค. และ 3) นายทิวนาถ ดำรงยุทธ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สศค. สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
นางสาวกฤติกา โพธิ์ไทรย์ ได้กล่าวถึงภาพรวมการเข้าถึงบริการทางการเงินภาคครัวเรือนปี 2559 มีการเข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่มขึ้นจากปี 2556 จากร้อยละ 95.8 เป็นร้อยละ 97.3 พบว่า ใช้บริการ ธ.พาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) มากที่สุด ขณะที่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และสถาบันการเงินอื่น มีบทบาทเพิ่ม มากขึ้น รวมทั้ง มีการใช้บริการผู้ให้บริการนอกระบบลดลง สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐที่สนับสนุนประชาชนให้ใช้บริการ ผู้ให้บริการในระบบและกึ่งในระบบ และเมื่อพิจารณาการเข้าถึงบริการด้านสินเชื่อฐานรากพบว่า SFI เป็นสถาบันการเงิน ที่ผู้มีรายได้น้อยกู้มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 54 อันดับต่อมา ได้แก่ สหกรณ์และธนาคารพาณิชย์ (ร้อยละ 28 และ 6 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินที่ให้บริการแก่ฐานรากยังมีข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ ทำให้การบริการทางการเงินยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้น ภาครัฐจึงได้จัดทำนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้ระบบการเงินฐานรากเข้มแข็งและสนองตอบความต้องการแก่ฐานรากได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ นโยบายที่เกี่ยวของกับการเงินระดับฐานราก ประกอบด้วย 2 นโยบายที่สำคัญ ได้แก่
1. การดำเนินงานตามแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560 – 2564 (แผนพัฒนาฯ) จะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของชุมชน และเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทั่วถึงอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การสร้างรายได้และพัฒนาศักยภาพด้านการเงินของประชาชนระดับฐานราก ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การพัฒนาผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (Financial Infrastructure) ให้เหมาะสมต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ แผนพัฒนาฯ ประกอบด้วย 60 โครงการ ในปีงบประมาณ 2560 มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 15 โครงการ
2. การดำเนินการเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่ (1) ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย (2) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ (3) ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ (4) เพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ และ (5) สนับสนุน การดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรการเงินชุมชนที่เกี่ยวข้อง
นายชยเดช โพธิคามบำรุง ได้กล่าวถึงปัญหาหนี้นอกระบบ โดยเกิดจากผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีหลักประกันหรือไม่เข้าหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินจากผู้ให้สินเชื่อในระบบสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะมีอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ส่งผลให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้โดยง่าย ประกอบกับเงื่อนไขบางประการของเจ้าหนี้นอกระบบบางรายที่มิยอมให้ลูกหนี้สามารถชำระเงินต้นได้ เช่น การตั้งเงื่อนไขที่จ่ายแต่ดอกเบี้ยและไม่ลดเงินต้น เป็นต้น ทั้งนี้ หนี้นอกระบบที่ถูกกฎหมายจะเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี โดยหากเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยสูงกว่านั้น พระราชบัญญัติห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ได้กำหนดโทษจำคุก 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นายทิวนาถ ดำรงยุทธ ได้กล่าวถึง แชร์ลูกโซ่ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีลักษณะหลอกลวงประชาชนที่แพร่หลาย ในปัจจุบัน โดยลักษณะธุรกิจแชร์ลูกโซ่นั้นมีลักษณะโฆษณาชักชวนบุคคลให้มาลงทุน และให้สัญญาว่าจะจ่ายผลตอบแทน ในอัตราที่สูงภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งในความเป็นจริงระบบการจ่ายผลตอบแทนให้กับสมาชิกแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่จะนำเงินที่ลูกค้าแชร์รายใหม่มาจ่ายให้ลูกค้ารายเก่าหรือใช้วิธีการหมุนเวียนเงิน หากไม่มีลูกค้ารายใหม่เข้ามาก็จะไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนนั้นได้ ทำให้ได้รับความเสียหายแก่ผู้ลงทุน อีกทั้งปัจจุบันมีการเล่นแชร์ผ่านทางโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คทั้งจาก Application เช่น Facebook หรือ Line เป็นต้น หรือที่เรียกว่าแชร์ออนไลน์ โดยวิธีการท้าวแชร์จะโฆษณาชักชวนผ่าน Application โดยลักษณะการเล่นนั้น จะเหมือนการเล่นแชร์ แต่จะแตกต่างกันตรงที่ผู้ที่ลงทุน (สมาชิกวงแชร์) จะได้รับผลตอบแทนที่ทางท้าวแชร์กำหนดไว้ แต่ในท้ายที่สุดผู้ลงทุน (สมาชิกวงแชร์) จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ท้าวแชร์กล่าวอ้างไว้ในตอนแรกแต่อย่างใด ซึ่งอาจจะเกิดจากท้าวแชร์หลบหนี หรือท้าวแชร์กล่าวอ้างกับผู้ลงทุนว่า สามารถติดตามเงินจากสมาชิกในวงแชร์ได้ครบถ้วนจึงไม่สามารถนำเงินมาจ่ายให้ผู้ลงทุนได้ แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงอุบายของท้าวแชร์ที่จะระดมทุนจากสมาชิกวงแชร์เท่านั้น และในท้ายที่สุดสมาชิกที่เข้ามาเล่นวงแชร์ก็จะไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ รวมถึงสูญเสียเงินที่ลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงได้ดีที่สุด คือ ควรศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้ละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุน รวมทั้งพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของบริษัทความเหมาะสมของราคาสินค้า และธุรกิจมีความเป็นไปได้จริงมากน้อยแค่ไหน
สศค. จะจัดเวทีสัมมนาวิชาการเวทีสานักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ประจำปีงบประมาณ 2561 อีกจำนวน 2 ครั้ง ในช่วงเดือนพฤษภาคม และ กรกฎาคม 2561 ตามลำดับ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 0 2273 9020 ต่อ 3669, 3653, 3376