นายวีระ กล่าวอีกว่า ได้รับรายงานว่าในการประชุมครั้งนี้ได้หารือความเป็นไปได้ในการบริหารงานหลักสูตรด้านการอนุรักษ์ร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษา และแนวทางความร่วมมือกับองค์กรนานาชาติด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ามีความจำเป็นต้องวิเคราะห์ตลาดงานสำหรับวิชาชีพด้านการอนุรักษ์ในปัจจุบันและอนาคต ทั้งในการปกป้องคุ้มครองแหล่งมรดกโลกและเมืองประวัติศาสตร์ทั่วประเทศ โดยได้ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งระบุช่องว่างของทรัพยากรบุคคลที่ทำงานเพื่อดูแลแหล่งประวัติศาสตร์ทรงคุณค่าของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา องค์การยูเนสโก ได้ริเริ่มโครงการฟื้นฟูภูมิปัญญาช่างฝีมือสถาปัตยกรรมไทยดั้งเดิมเพื่อการอนุรักษ์มรดกโลก ร่วมกับกรมศิลปากรและ วธ.มาตั้งแต่ ปี 2559 มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะความชำนาญของช่างฝีมือที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์โบราณสถาน และสร้างความตระหนักถึงหลักการอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์และความสำคัญของการใช้วัสดุและทักษะการก่อสร้างแบบดั้งเดิม โดยเริ่มต้นจากแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
โครงการดังกล่าวได้ริเริ่มการใช้การวิจัยภาคสนาม เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งกรมศิลปากร บริษัทรับจ้าง นักวิชาการ ชุมชนท้องถิ่น ผู้ควบคุมงานและช่างฝีมือที่ทำงานในโครงการอนุรักษ์ และนำไปสู่การร่างหลักสูตรแล้วเสร็จ 2 แขนง ได้แก่ หลักสูตรวิชาชีพเฉพาะทางด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน และหลักสูตรช่างอนุรักษ์โบราณสถานประเภทอิฐและปูนในขณะนี้ได้ริเริ่มดำเนินโครงการอนุรักษ์ตัวอย่างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยในปีแรกปี 2561ดำเนินการที่วัดกระจี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา