ชื่อวัดวชิรธรรมาราม มีที่มาจากฉายานามในศาสนาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สมัยดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ ท่านทรงผนวชเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ. 2367 มีฉายานามว่า "พระวชิรญาณ" ประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ หลังจากที่ทรงผนวชได้ 15 วัน สมเด็จพระบรมชนกนาถคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคตโดยไม่ได้ดำรัสมอบราชสมบัติแก่ผู้ใด ตามนิตินัยแล้วผู้มีสิทธิ์ขึ้นครองราชย์สืบต่อคือพระวชิรญาณ เพราะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าราชโอรสองค์ใหญ่อันเกิดจากพระอัครมเหสี แต่พระวชิรญาณทรงตัดสินพระทัยที่จะผนวชต่อไป ที่ประชุมพระราชวงค์และเสนาบดีจึงถวายราชสมบัติแก่กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ผู้เจริญพระชันษากว่าพระวชิรญาณถึง 17 ปี เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
พระวชิรญาณได้ศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างละเอียดทั่วถึง ทำให้ประจักษ์ว่าวัตรปฏิบัติที่ได้สั่งสอนสืบกันมานั้นได้คลาดเคลื่อนและหย่อนยานไปเป็นอันมาก ต่อมาทรงเลื่อมใสในความเคร่งครัดวินัยของพระเถระชาวมอญรูปหนึ่งชื่อ ชาย พุทธวังโส ซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็นพระสุเมธมุนี จึงเสด็จย้ายจากวัดมหาธาตุไปประทับ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิราช) และทรงเข้ารับการอุปสมบทซ้ำในปี พ.ศ. 2372 โดยมีพระสุเมธมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติจากพระสุเมธมุนีแล้วเผยแพร่การปฏิบัติเคร่งครัดวินัยแบบมอญ เมื่อมีผู้เคารพนับถือมากขึ้นจึงทรงประกาศตั้งคณะสงฆ์ใหม่ขึ้นเรียกว่า ธรรมยุติกนิกาย ในปี พ.ศ. 2376 เพื่อฟื้นฟูศาสนาพุทธในสยาม และแก้ไขวัตรปฏิบัติของสงฆ์ให้ถูกต้องและเข้มงวดตามพุทธบัญญัติ พระวชิรญาณผนวชอยู่ 27 พรรษาจึงลาผนวชและเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กล่าวได้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ก่อตั้งนิกายของพระอรัญวาสีหรือพระป่าที่มีพระอริยสงฆ์เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาในเวลาต่อมา อาทิ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม หลวงตาบัว ณาณสัมปันโน
วัดวชิรธรรมารามมีเจดีย์ทรงดอกบัวตูมซึ่งเป็นรูปแบบของเจดีย์ที่มีรูปทรงสูงเด่นสง่างาม ฐานชั้นล่างมีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่นกัน 3 หรือ 4 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานแว่นฟ้าซ้อนกันค่อนข้างสูงรองรับเรือนธาตุ มียอดเป็นรูปดอกบัวตูม หรือเรียกกันว่า ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงทนาฬ ตั้งอยู่เหนือเรือนธาตุสี่เหลี่ยมย่อไม้ยี่สิบ นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ยกย่องว่าเจดีย์ทรงดอกบัวตูมเป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้ที่ศิลปินสุโขทัยคิดแบบอย่างของตนขึ้น และนิยมสร้างไว้ตามเมืองต่างๆ ในสมัยสุโขทัยเท่านั้น เช่นที่วัดมหาธาตุ วัดตระพังเงิน วัดซ่อนข้าว วัดทักษิณาราม วัดอ้อมรอบ วัดก้อนแล้ง วัดอโศการาม วัดเจดีย์เจ็ดแถว
อย่างไรก็ตาม เจดีย์ทรงดอกบัวตูมของวัดวชิรธรรมารามยังขาดการหุ้มทองคำพุ่มข้าวบิณฑ์ยอดเจดีย์ สมเด็จพระวันรัต จึงเมตตาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล
เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และมอบหมายให้นายสมาน คุณากรไพบูลย์ศิริ ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย พร้อมคณะ ร่วมกันจัดทำโครงการ "หุ้มทองคำพุ่มข้าวบิณฑ์ยอดเจดีย์ วัดวชิรธรรมาราม" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจดีย์มีสภาพสมบูรณ์และมีความสง่างาม คงไว้ซึ่งมรดกทางสถาปัตยกรรมสืบต่อไป
ทั้งนี้ เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัตจะเมตตามารับการถวายทองคำและปัจจัย ในวันที่ 17 มีนาคม 2561 เวลา 14.00 น. ณ อาคาร 100 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร และในวันที่ 24 มีนาคม 2561 เวลา 14.00 น. ณ วัดวชิรธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากนั้นในวันที่ 31 มีนาคม 2561 เวลา 16.00 น. จะมีพิธียกฉัตรโครงการหุ้มทองคำพุ่มข้าวบิณฑ์ และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับประทานจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก พร้อมบรรจุพระไพรีพินาศที่ผ่านการเข้าพิธีแล้ว จำนวน 84,000 องค์ ณ วัดวชิรธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคทองคำ 99.99% ได้ตามเวลาและสถานที่ที่ระบุข้างต้น หรือร่วมทำบุญเป็นเงินปัจจัยเข้าบัญชี "โครงการหุ้มทองคำพุ่มข่าวบิณฑ์ยอดเจดีย์วัดวชิรธรรมาราม" เลขที่บัญชี 309-440363-2 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาอ้อมน้อย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณณัฐอร โสภณ โทร. 09 8945 4265 และ คุณปนัดดา ศรีโปฎก โทร. 08 5155 0035 หรือติดต่อทาง official Line มูลนิธิธรรมดี @dfoundation