วันที่ 9 มีนาคม 2561 บริษัท เคมีแมน จำกัด (มหาชน) หรือ CMAN ได้ลงนามในสัญญาแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) และแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้
นายมานพ เพชรดำรงค์สกุล หัวหน้าธุรกิจขนาดใหญ่ ตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เปิดเผยว่า หลังจากสำรวจความต้องการซื้อหุ้น (Book Building) IPO ของ บมจ.เคมีแมน จากนักลงทุนสถาบันเมื่อวันที่ 6-8 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีช่วงราคาเสนอขายที่ 3.72 – 3.84บาทต่อหุ้น พบว่ามีนักลงทุนสถาบันแสดงความต้องการจองซื้อที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 3.84 บาท และแสดงความต้องการจองซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่จัดสรรไว้ประมาณ 20 เท่า จึงกำหนดราคาเสนอขาย IPO หุ้นละ 3.84 บาท เตรียมเปิดให้นักลงทุนทั่วไปจองซื้อวันที่ 14-16 มีนาคมนี้ และคาดว่าจะนำหุ้น บมจ.เคมีแมน เข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 21 มีนาคม 2561
ปัจจุบัน บมจ. เคมีแมน มีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.00 บาท โดยทุนที่ออกและชำระแล้วมีจำนวน720 ล้านบาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 240 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO เพื่อระดมทุนนำไปใช้ขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
ทั้งนี้ บมจ. เคมีแมน เป็นบริษัทฯ ที่มีศักยภาพสูง เป็นผู้นำอุตสาหกรรมปูนไลม์และผลิตภัณฑ์เคมีต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย และเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปูนไลม์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิตติดตั้งปูนไลม์ (ณ วันที่ 30 ก.ย. 2560) รวมประมาณ 8 แสนตันต่อปี จากฐานการผลิตในจังหวัดสระบุรีและระยองรวม 3 แห่ง และเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา บมจ.เคมีแมน ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เตาเผาปูนควิกไลม์ใหม่ (KK 6) เพิ่มขึ้นอีก 1 เตา ที่โรงงานแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นที่เรียบร้อย ส่งผลให้มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 9 แสนตันต่อปี นอกจากนี้ ยังมีศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญอีก 2 แห่งในประเทศออสเตรเลียเพื่อรองรับการทำตลาดต่างประเทศ
นายอดิศักดิ์ เหล่าจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า ปูนไลม์ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ใกล้ตัว เนื่องจากถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น กระดาษ น้ำตาล บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพแก้ว ขวด กระจก อาหารสัตว์ เป็นต้น ขณะที่บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบธุรกิจปูนไลม์เพียงรายเดียวในประเทศไทย ที่มีทั้งโรงงานผลิตและได้รับประทานบัตรเหมืองอายุ 25 ปี (สิ้นสุด 23 มิ.ย. 2583) จากกระทรวงอุตสาหกรรม บนพื้นที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นแหล่งแร่หินปูนเคมีที่มีปริมาณแคลเซียมสูงเป็นพิเศษ (Ultra-high Calcium Limestone) มีปริมาณแร่หินปูนเคมีสำรองกว่า 115 ล้านตัน (จากข้อมูลสำรวจ ณ เดือน ต.ค. 2559) จึงทำให้บริษัทฯ มีความได้เปรียบในเชิงคุณภาพและการบริหารต้นทุนของวัตถุดิบ
ทั้งนี้ จากผลสำรวจภาวะอุตสาหกรรมปูนไลม์ในประเทศไทยโดย Frost & Sullivan บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งตลาด ปูนควิกไลม์และปูนไฮเดรตไลม์สูงสุดทั้งการขายในประเทศและการส่งออก โดยปี 2559 มีส่วนแบ่งการขายปูนควิกไลม์และปูนไฮเดรตไลม์ในประเทศ ร้อยละ 29 และ 21 และมีมูลค่าส่งออก ร้อยละ 81 และ 84 ของมูลค่าส่งออกปูนไลม์รวมของประเทศไทยตามลำดับ ขณะที่ผลการดำเนินงานงานปี 2560 มีรายได้รวม 2,215 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 109.31 ล้านบาท
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CMAN กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้กำหนดเป้าหมายขยายกำลังการผลิตติดตั้งปูนไลม์ติด 10 อันดับแรกของโลก โดยจะขยายกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มเป็นประมาณ 1 ล้านตันต่อปีภายในปี 2563 เพื่อตอบสนองความต้องการของปูนไลม์ที่ขยายตัว ซึ่งจะเอื้อให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากปัจจุบันที่มีฐานลูกค้าในภูมิภาคเอเชีย ออสเตรเลียและแอฟริกา ครอบคลุมกว่า 20 ประเทศ
ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างขยายธุรกิจในประเทศอินเดียซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นในสัดส่วน 50 : 50 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายปูนไลม์ในอินเดียอีก 2 แห่งที่เมือง Visakhapatnam และเมือง Tuticorin ซึ่งเป็นเมืองท่าและเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศอินเดียอีกด้วย โดยในส่วนของบริษัทฯ จะใช้งบลงทุนแห่งละ 87.50ล้านบาท และประมาณ 115 ล้านบาทตามลำดับ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2562
"เรามีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำอุตสาหกรรมปูนไลม์และผลิตภัณฑ์เคมีต่อเนื่อง 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก พร้อมทั้งมุ่งมั่นที่จะสร้างความสมดุลให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย และมีเป้าหมายขยายฐานลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่พึงพอใจแก่ผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนหลักบรรษัทภิบาลที่ดี" นายอดิศักดิ์กล่าว