นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินมาตรการกำกับดูแล เข้มงวด การบังคับใช้กฎหมาย และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าแก่ผู้ประกอบการขนส่งให้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ การปฏิบัติตามกฎระเบียบราชการ ให้ผู้ขับรถที่ใช้ขนส่งสินค้าเกิดความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุทางถนนตามเป้าหมายการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศ ควบคู่กับการสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการค้า การบริการ การลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศ เช่น มีระบบบริหารจัดการและการติดตามการขนส่งสินค้า มีกลยุทธ์ที่ส่งเสริมการดำเนินการด้านโลจิสติกส์ที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green & Safety Logistics) มีการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ ทั้งต้นทุนการขนส่งสินค้าซึ่งเป็นสัดส่วนต้นทุนที่สูงที่สุดคิดเป็น 53.5% ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง 37.4% และต้นทุนการบริหารจัดการ 9.1% ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการประกอบการ กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จึงได้จัดงานสัมมนาการเสริมสร้างความปลอดภัยและการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า เพื่อสร้างความตระหนักด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และให้ความรู้ตลอดจนเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวกับการพัฒนาการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการขนส่งสินค้าและประหยัดเชื้อเพลิงจากการขนส่งสินค้า รวมถึงเป็นโอกาสในการเตรียมความพร้อมมาตรการรองรับการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 ด้วย โดยนางหลุยซ่า ราเกร์ รักษาการหัวหน้า คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหภาพยุโรปวางเป้าหมายที่จะลดผลกระทบเชิงลบของสภาพภูมิอากาศ ด้วยแนวคิดที่เรียกว่า "decoupling" ซึ่งต้องการลดการซ้ำซ้อนของการขนส่งสินค้า และลดการใช้เชื้อเพลิง ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยมุ่งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งให้ได้ถึง 60% ภายในปี 2593 ดังนั้นนโยบายการขนส่งของเรา จึงถูกจัดทำขึ้นเพื่อลดการขนส่งทางถนน โดยเน้นการลดมลพิษและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิมากขึ้น และเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ เรามุ่งเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการขนส่ง เร่งให้มีการใช้ยานพาหนะที่สะอาด ตลอดจนส่งเสริมแหล่งพลังงานทางเลือกสำหรับการขนส่งด้วย
ด้าน นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อความปลอดภัยของผู้ประกอบการ ตัวรถ และพนักงานขับรถอย่างยั่งยืน กรมการขนส่งทางบกกำหนดมาตรการดำเนินงานต่อเนื่องและอยู่ระหว่างศึกษาการกำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารและรถบรรทุกต้องมีผู้จัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่งทางถนน (Transport Safety Manager) เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหาร การวางแผนจัดการการขนส่ง การดูแลพนักงานขับรถ ความพร้อมของยานพาหนะ และการกำกับดูแลการขนส่งให้มีความปลอดภัยสูงสุด รวมทั้งการติดตามการเดินรถผ่านระบบ GPS Tracking ทั้งด้านการใช้ความเร็ว ชั่วโมงการขับรถ บริหารจัดการเหตุฉุกเฉิน อุบัติเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ซึ่งจะสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและคุณสมบัติ Safety Manager ทั้งผู้ประกอบการรถโดยสารและรถบรรทุกได้ภายในปี 2561 นี้