ดร.วิวัฒน์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ "ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" นำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุข โดยบูรณาการการพัฒนาในทุกมิติ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนองนโยบายโดยกำหนดยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานในการพัฒนาภาคการเกษตรให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ และเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ "เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตร มั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน" มีแนวทางไปสู่เป้าหมาย ด้วย ๕ ยุทธศาสตร์ คือ 1. สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 2. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้า 3. เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4. บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน และ 5. พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ รวมไปถึงการกำหนดนโยบายของ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมุ่งเน้นให้หน่วยงานในสังกัดบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นจากความยากจน และมีรายได้มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาระบบสหกรณ์และวิสาหกิจการเกษตรให้เข้มแข็ง เกษตรกรไทยเข้าสู่ระบบสหกรณ์ทุกครัวเรือน เกิดสังคมและชุมชนเกษตรกรไทยแบบพออยู่ พอเพียง และสามารถผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้
ทั้งนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการเงินการบัญชีแก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินที่ต้องกำกับดูแล ๒.๙๕ ล้านล้านบาท หรือกว่า ๒๐% ของ GDP ประเทศ จึงได้นำระบบบัญชีไปวางรากฐานในการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้น ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบฐานรากในการพัฒนาสู่การขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมั่นคง โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการให้องค์ความรู้ทางบัญชี ควบคู่กับภารกิจหลักด้านการวางระบบบัญชีและตรวจสอบบัญชีสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการยกระดับสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็งด้วยบัญชี เกษตรกรได้มีความรู้และเข้าใจในการนำระบบบัญชีไปใช้ในการบริหารจัดการภาคการเกษตรได้อย่างเหมาะสม สมดุล และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งให้ประชาชนได้ใช้บัญชีเป็นคู่มือในการดำเนินชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจระดับฐานราก หรือขจัดปัญหาความยากจน ปัจจุบัน ได้สอนการทำบัญชีให้กับกลุ่มเป้าหมายแล้ว จำนวนกว่า 7.๗ ล้านคน รวมทั้งได้สร้างเครือข่ายครูบัญชีอาสาทั่วประเทศ จำนวน 6,538 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการถ่ายทอดความรู้การจัดทำบัญชีสู่เกษตรกรและคนในชุมชน ก่อเกิดเป็นชุมชนคนทำบัญชี กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยทุกกิจกรรมมีเป้าหมายดำเนินการขยายผลเพิ่มขึ้นในปี 2561
นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังได้ดำเนินงานด้านการสร้างความเข้มแข็งสู่สหกรณ์ โดยวางระบบบัญชีสหกรณ์ ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ รวมถึงการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบัญชีสู่สหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป โดยดำเนินงานควบคู่กับการพัฒนางานระบบบัญชีและกลไกที่จะส่งเสริมระบบบัญชีให้มีความทันสมัย และทันกับสถานการณ์ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ รู้เท่าทันเทคโนโลยีและการดำเนินธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ และปรับโครงสร้างบุคลากร ให้สามารถรองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและแตกต่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสนับสนุนผู้สอบบัญชีให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีได้รับอนุญาต เพื่อพัฒนาผู้สอบบัญชีสู่ผู้สอบบัญชีมืออาชีพ (CAD-CPA) การปรับโครงสร้างองค์กรรองรับการทำงานแบบบูรณาการกับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พัฒนางานระบบบัญชีด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ มาเป็นเครื่องมือเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของสหกรณ์ และการวางกลยุทธ์ในการสร้างมาตรฐานจริยธรรมด้านการเงินการบัญชีแก่ผู้บริหารสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์มีผู้บริหารที่มีความเป็นมืออาชีพ สามารถรับมือกับภาวะความเสี่ยงในการบริหารการเงิน ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากระบบสหกรณ์ เป็นต้น
"ในโอกาสครบรอบการสถาปนา 66 ปี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะยังคงรักษามาตรฐานและคุณภาพการทำงานอย่างเข้มแข็ง เพื่อเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาสหกรณ์ไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งเกษตรกรและประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนและหลุดพ้นจากความยากจน" อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว