นางอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า "ในปี 2560 ที่ผ่านมานั้น นับว่าเป็นอีกปีที่ตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ไทยแสดงศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วยการส่งออกมีมูลค่าสูงถึง 19,844.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 15.50 เมื่อเทียบกับปี 2559 โดยส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกไปมากที่สุด ด้านการนำเข้า มีมูลค่า 16,623.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.15% เมื่อเทียบกับปี 2559 โดยการนำเข้า-ส่งออกทั้งปี 2560 นั้นมีมูลค่า เกินดุลถึง3,221.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศคู่ค้าที่มีการส่งออกไปมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่สหรัฐอเมริกา 2,779.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ คิดเป็น 14% ของการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้น 20.62% จากปี 2559 รองลงมาเป็น ญี่ปุ่น 1,799.64 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ คิดเป็น 9.07% ของการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้น 9.79% จากปี 2559 อันดับ 3 คือ อินโดนีเซีย 1,695.07 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ คิดเป็น 8.54% ของการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้น 22.80% จากปี 2559 มาเลเซีย 1,349.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ คิดเป็น 6.80% ของการส่งออกทั้งหมด ลดลง2.81% จากปี 2559 และ จีน1,173.27 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ คิดเป็น 5.91% ของการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้น37.92% จากปี 2559"
นางอัชณา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีที่ผ่านมาสมาคมฯ มีการดำเนินงานอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการทำงานที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี หรือการเปลี่ยนแปลงตามระบบเศรษฐกิจโลก โดยเรายังคงมุ่งมั่นในการช่วยผลักดันอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ให้เจริญเติบโต แข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากลอย่างยั่งยืน โดยจัดทำยุทธศาสตร์สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย สำหรับปี 2561 - 2563 แบ่งออกเป็น 6 ด้านหลัก ได้แก่ 1) สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร (Strengthen the organization) สร้างคน เน้นจริยธรรม พัฒนาระบบงาน มุ่งเน้นการบริหาร งานที่เข็มแข็ง ประสานความร่วมมือ ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ ดูแลเรื่องการเงินของสมาคมฯ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ 2) ให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยี,นวัตกรรม และมาตรฐาน (Focus on the technology,Innovation and Standardization) การสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ให้เกิดขึ้นด้วยการเชื่อมโยงหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศให้มาสนับสนุน 3) เพิ่มขีดความสามารถมนุษย์ (Human Empowerment) พัฒนาศักยภาพความสามารถของแรงงานในอุตสาหกรรม ให้มีทักษะฝีมือ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีระเบียบวินัย ตอบแทนสังคมและองค์กร 4) สร้างความเข้มแข็งในการทำธุรกิจในระดับสากล (Strengthen the business internationally)เน้นและพัฒนาการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างประเทศ 5) การบริหารจัดการให้ SMEs ก้าวสู่ความเข้มแข็งทางธุรกิจ (Management of SMEs) ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs แข็งแกร่งด้วยการบริหารจัดการ และ 6) สนับสนุนและส่งเสริมการส่งออก (Support and promote export) เพิ่มโอกาส ช่องทาง และประสานความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ที่สนใจเรื่องการส่งออกให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน"
"ปัจจุบัน ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อการส่งออกที่แข็งแกร่ง ดังจะเห็นได้จากตัวเลขตลาดรวมที่สูง โดยไทยถือเป็นอันดับ 1 ในการผลิตเพื่อการส่งออก รองลงมาเป็น อินโดนีเซีย, มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ตามยุทธศาสตร์ที่เราวางไว้ เราตั้งเป้าการฝึกฝนบุคลากรในสายอาชีพเพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่เราพัฒนาบุคลากรร่วมกับทาง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในปี 2559 – 2560 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้บุคลากรในสายอาชีพ จำนวน 5,949 คน โดยในปี 2561 เป็นต้นไป เราตั้งเป้าหมายไว้ที่ปีละ 4,000 คน อีกด้วย"