"รัฐบาลมีนโยบายบริหารจัดการข้าวทั้งระบบตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร โดยมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงปีการผลิต 2559 - 2561 โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือก เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ การปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลาย พืชปุ๋ยสด พืชอาหารสัตว์ การสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวแบบแปลงใหญ่ การชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวของสถาบันเกษตรกร และสนับสนุนสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก การสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย และโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยในระยะเร่งด่วน รวมถึงรัฐบาลไทยได้กำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจนในอนาคตให้ก้าวสู่ยุค "ไทยแลนด์ 4.0" ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เติมเต็มด้วยวิทยาการความคิดสร้างสรรค์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา โดยมุ่งเน้นปรับเปลี่ยนเกษตรกรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการเทคโนโลยีมุ่งยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ" นายลักษณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตในภาคการเกษตร โดยเฉพาะสินค้าข้าว ซึ่งเป็นสินค้าปฐมภูมิ ควรได้รับการพัฒนาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าข้าว พัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรของกรมการข้าวก็มีความสำคัญ ซึ่งการจัดประชุมวิชาการดังกล่าวจะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้อง และเพิ่มพูนความรู้ให้แก่บุคลากร ทั้งด้านของวิชาการ นวัตกรรม เทคโนโลยีด้านข้าว เพื่อจะได้มีแนวทางหรือข้อมูลในการนำไปใช้ในการปฏิบัติงานพัฒนาการวิจัย หรือเป็นข้อมูลในการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป