เมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทย มุ่งผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พุธ ๑๔ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๗:๑๒
- เครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์จะประกอบด้วยโรงงาน 6 แห่งใน 3 ทวีป พร้อมตอบสนองความต้องการในตลาดได้อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ

- เมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ และพันธมิตรในไทย คือ ธนบุรีประกอบรถยนต์ สานต่อ ความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยการร่วมลงทุนกว่า 100 ล้านยูโร ยกระดับการผลิต ในไทยเพื่อรองรับความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาค

- เงินลงทุนจะใช้เพื่อขยายโรงงานรถยนต์และสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่

- การลงทุนครั้งนี้จะสร้างงานใหม่อีกกว่า 300 ตำแหน่ง ณ ฐานการผลิตแห่งนี้

- มร. มาร์คุส เชฟเฟอร์ กรรมการบริหาร รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ฝ่ายการผลิตและการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ระบุว่า "โครงการเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าในเครือข่ายการผลิต ทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ที่มีความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการผลิตสูง กำลังก้าวรุดหน้าด้วยดีและรวดเร็วอย่างยิ่ง โดยหนึ่งในแผนงานตามกลยุทธ์ของเราคือการร่วมมือกับพันธมิตร อย่างธนบุรีประกอบรถยนต์ เพื่อเตรียมพร้อมสู่อนาคตแห่งการสัญจรในประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจากแนวคิดการผลิตแบตเตอรี่ของเราที่มีมาตรฐานเดียวกันและสามารถขยายต่อเติมได้ ทำให้เราเปิดสายการผลิตได้อย่างรวดเร็วในภูมิภาคใดๆ ก็ตามด้วยขนาดโรงงานที่เหมาะสม"

เมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์เดินหน้าเสริมศักยภาพด้านการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังตัดสินใจเดินกลยุทธ์เพื่อรองรับรูปแบบการสัญจรที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าซึ่งกำลังมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาค โดยนับจากนี้จนถึงปี 2563 ทางบริษัทฯ จะทุ่มเงินลงทุนรวมกว่า 100 ล้านยูโรเพื่อขยายการผลิตในไทยร่วมกับพันธมิตรในประเทศ คือ ธนบุรีประกอบรถยนต์ โดยเม็ดเงินดังกล่าวจะใช้เพื่อขยายโรงงานรถยนต์ที่มีอยู่ในปัจจุบันและสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่แห่งใหม่ขึ้นในที่ตั้งเดียวกันเพื่อเป็นหลักประกันว่าโรงงานในไทยจะมีเทคโนโลยีอันล้ำหน้าไว้พร้อมสำหรับรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว (Battery Electric Vehicle – BEV) ที่ผลิตขึ้นที่นี่

"โครงการเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าในเครือข่ายการผลิตทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ ที่มีความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการผลิตสูง กำลังก้าวรุดหน้าด้วยดีและรวดเร็วอย่างยิ่ง โดยหนึ่งในแผนงานตามกลยุทธ์ของเราคือการร่วมมือกับพันธมิตร อย่าง ธนบุรีประกอบรถยนต์ เพื่อเตรียมพร้อมสู่อนาคตแห่งการสัญจรในประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจากแนวคิดการผลิตแบตเตอรี่ของเราที่มีมาตรฐานเดียวกันและขยายต่อเติมได้ ทำให้เราเปิดสายการผลิตได้อย่างรวดเร็วในภูมิภาคใดๆ ก็ตามด้วย ขนาดโรงงานที่เหมาะสม โรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทยจะเสริมเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกของเราให้มีโรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 6 แห่งใน 3 ทวีป" มร. มาร์คุส เชฟเฟอร์ กรรมการบริหาร รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ฝ่ายการผลิตและการจัดการห่วงโซ่อุปทาน กล่าว

ด้วยข้อดีของการผลิตที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและแนวคิดในการออกแบบโรงงาน แผนงานในการผลิตแบตเตอรี่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์จึงสามารถปรับขยายได้เพื่อให้เหมาะสมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะต่างๆ และเพื่อให้การดำเนินการตามแผนการผลิตเป็นไปด้วยความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับภาวะตลาดทั่วโลก

ดร. อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า "เมอร์เซเดส-เบนซ์ ถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลก และเป็นผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของประเทศไทยด้วยผลิตภัณฑ์และบริการมาตรฐานระดับโลก ก่อให้เกิดการลงทุน สร้างรายได้ให้กับประเทศ และนับเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เติบโตก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสังคม โดยขณะนี้ ทางบริษัทฯ ได้มีการขอขยายการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (Plug-in Hybrid Electric Vehicles: PHEV) เป็นการตอบรับต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย ที่มีเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่การพัฒนายานยนต์แห่งอนาคตและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ใช้พลังงานไฟฟ้า แสดงให้เห็นว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ จากประเทศเยอรมนี ได้เล็งเห็นความสำคัญของประเทศไทย ในการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นการยกระดับความสามารถ คนไทยด้วยการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เหนือกว่าการผลิตชิ้นส่วนทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และสามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป"

ภายในปี 2565 บริษัทฯ จะผสานระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเข้ากับรถยนต์ของ เมอร์เซเดส-เบนซ์อย่างทั่วถึง เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่เป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า อย่างน้อย 1 รุ่นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่รถยนต์จากแบรนด์สมาร์ทไปจนถึงรถยนต์อเนกประสงค์ขนาดใหญ่ รวมถึงบริษัทฯ กำลังวางแผนจะนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 50 รุ่นย่อยอีกด้วย ในขณะเดียวกันเมอร์เซเดส-เบนซ์ยังสนับสนุนการพัฒนารถยนต์ ปลั๊กอินไฮบริดและการแจ้งเกิดของระบบ 48 โวลท์ พร้อมด้วยรถยนต์รุ่นแรกในตระกูล EQ ซึ่งใช้ชื่อว่า EQC ที่จะเข้าสู่สายการผลิตในปี 2562 ที่เบรเมน ประเทศเยอรมนี ทั้งนี้ EQ เป็น แบรนด์เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์ CASE ซึ่งประกอบด้วยเสาหลักเชิงกลยุทธ์ที่ผสานกันอย่างชาญฉลาด ได้แก่ การเชื่อมต่อ (Connected), การขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Autonomous), ความยืดหยุ่นในการใช้งาน (Shared & Services) และระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (Electric)

โรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งที่ 6 ของเมอร์เซเดส-เบนซ์

โรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ โดยจะผลิตเพื่อรองรับความต้องการในประเทศและเพื่อส่งออก เดมเลอร์ใช้เงินลงทุนรวมกว่า 1,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 1 พันล้านยูโร) ในเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าว ซึ่งยังมีโรงงานทั้งในเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และจีนอีกด้วย เครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่นี้จะตอบสนองความต้องการในตลาดอย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับการผลิตรถยนต์ ซึ่งกลยุทธ์นี้จะทำให้มีเทคโนโลยีแบตเตอรี่ อันทันสมัยจากศูนย์กลางการผลิตในแต่ละพื้นที่ ทั้งยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกาไว้พร้อมรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นตามแผนงานรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ทั้งนี้ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยมีแผนจะเริ่มเดินสายการผลิตภายในปี 2562

มั่นใจศักยภาพตลาดรถยนต์นั่งในประเทศไทย

การร่วมลงทุนในครั้งนี้ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ และธนบุรีประกอบรถยนต์ซึ่งเป็นพันธมิตรในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเพื่อการขยายโรงงานผลิตรถยนต์ที่มีอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้ศักยภาพการผลิตรถยนต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วยจำนวนรุ่นที่มากขึ้น

มร. ไมเคิล เกรเว่ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "เมอร์เซเดส-เบนซ์ ดำเนินธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นที่จะมอบ "สิ่งที่ดีที่สุด" (THE BEST) ให้กับลูกค้าทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า การลงทุนในครั้งนี้สะท้อนความเชื่อมั่นที่เรามีต่อศักยภาพของตลาดรถยนต์นั่งในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เราทำตลาดอยู่ในปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างสูงจากกลุ่มลูกค้า และเราจะยังคงเดินหน้าเพิ่มความหลากหลายของรถยนต์ที่ผลิตภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง"

ในปี 2560 เมอร์เซเดส-เบนซ์มียอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วยจำนวนมากกว่า 14,000 คัน ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึงสองหลัก โดยรุ่นที่มียอดจำหน่ายสูงสุดประกอบด้วยรถยนต์ซีดานตระกูล E-Class, C-Class และ CLA ในปัจจุบันเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ทำตลาดรถยนต์ที่ประกอบภายในประเทศรวมทั้งหมด 9 รุ่น โดยรุ่นที่เป็นรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้ง C-Class, S-Class และ GLE ในเวอร์ชั่นปลั๊กอินไฮบริดที่เปิดตัวในช่วงต้นปี 2559 และล่าสุดคือรุ่น E 350e Avantgarde, E 350e Exclusive และ E 350e AMG Dynamic นอกจากนี้เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังครองตำแหน่งผู้นำตลาดรถยนต์ระดับพรีเมี่ยมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมาตลอด 17 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2544

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ประสบความสำเร็จอย่างสูงในประเทศไทยคือความร่วมมืออันใกล้ชิดระหว่างเมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย และ ธนบุรีประกอบรถยนต์ ในฐานะผู้ดำเนินงานด้านการผลิตในประเทศไทย โดยที่ในปี 2560 เพียงปีเดียว ธนบุรีประกอบรถยนต์สามารถผลิตรถยนต์ให้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ได้มากกว่า 12,000 คัน ในปัจจุบันโรงงานแห่งนี้มีพนักงานกว่า 1,000 คน และคาดการณ์ว่าเมื่อโครงการลงทุนครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์ โรงงานแห่งนี้จะ สร้างงานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 300 ตำแหน่ง โดยในจำนวนนี้จะเป็นการจ้างงานในส่วนของการผลิตแบตเตอรี่เกือบ 100 ตำแหน่ง

มร. อันเดรอัส เลทเนอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "การขยายโรงงานและการผลิตแบตเตอรี่ที่จะเริ่มขึ้นในอนาคต ณ โรงงานในจังหวัดสมุทรปราการ นับเป็นการกระชับความร่วมมือกับ ธนบุรีประกอบรถยนต์ให้แข็งแกร่งขึ้นอีกขั้น และยังเป็นการเตรียมพร้อมของ เมอร์เซเดส-เบนซ์สำหรับรูปแบบการสัญจรในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญสำหรับพนักงานของเราที่จะได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ๆ ที่ต้องใช้ทักษะความรู้ขั้นสูง เพื่อเตรียมพร้อมพวกเขาสำหรับเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุด เรามุ่งมั่นที่จะเพิ่มบทบาทในภูมิภาคและสานต่อความร่วมมือกับพันธมิตรของเราในประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ความร่วมมือทั้งกับธนบุรีประกอบรถยนต์ซึ่งเป็นพันธมิตรของเรา และกับหน่วยงานภาครัฐของไทยล้วนเป็นไปอย่างดีเยี่ยม โดยเราได้รับการสนับสนุนที่จำเป็นในการดำเนินการผลิตของเราต่อไปให้ประสบความสำเร็จ"

เมอร์เซเดส-เบนซ์ทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อให้มั่นใจได้ว่ารถยนต์ทุกคันที่ผลิตในเครือข่าย การผลิตทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานของแบรนด์ไม่ว่าจะผลิตจากฐานการผลิตแห่งใดก็ตาม โดยในช่วงของการเตรียมการเพื่อเริ่มผลิตรถยนต์รุ่นใหม่หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ พนักงานในประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากทีมงานที่มีประสบการณ์สูงเพื่อให้พวกเขาคุ้นเคยกับกระบวนการผลิตใหม่ๆ เหล่านั้นด้วย

คุณวีระชัย เชาวน์ชาญกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด กล่าวว่า "ธนบุรีประกอบรถยนต์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ได้มอบความไว้วางใจให้เราเป็นผู้ผลิตอย่างเป็นทางการในการตั้งโรงงาน แห่งใหม่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตแบตเตอรี่ทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ โรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่นี้จะตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 30 ไร่ ใกล้กับโรงงาน ประกอบรถยนต์ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ในปัจจุบัน โดยมีแผนจะเริ่มเดินสายการผลิตใน ช่วงต้นปี 2562 เราตระหนักเป็นอย่างดีว่าความรู้ความสามารถของพนักงานฝ่ายผลิตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเครือข่ายการผลิตทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ ทั้งนี้ ด้วยคำยืนยันของเราที่ว่า "เราเชื่อมั่นในตัวบุคลากร เครือข่าย และการผลิตที่ใช้ทักษะฝีมือขั้นสูง" ดังนั้นในช่วงของการเตรียมตัวเปิดสายการผลิต พนักงานในประเทศไทยจะได้รับการสร้างเสริมความรู้ความชำนาญในการผลิตและความรู้ทางเทคนิคสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด เพื่อให้มั่นใจได้อย่าเต็มเปี่ยมว่าแบตเตอรี่จะมีคุณภาพได้มาตรฐานทัดเทียมกับ แหล่งผลิตอื่นๆ ทั่วโลก"

เกี่ยวกับเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ โอเปอเรชั่นส์

เมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ โอเปอเรชั่นส์ (Mercedes-Benz Cars Operations) เป็น ผู้ดำเนินงานด้านการผลิตรถยนต์นั่ง ณ โรงงานกว่า 30 แห่งทั่วโลก โดยที่มี 3 แห่งกำลัง อยู่ระหว่างการก่อตั้ง เครือข่ายการผลิตที่มีความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพสูงนี้มีพนักงานประมาณ 78,000 คน และมีศูนย์กลางการดำเนินงานที่ทำหน้าที่วางแผนการผลิต ออกแบบและทดสอบกระบวนการผลิต (TECFACTORY) ดำเนินการด้านโลจิสติกส์ และควบคุมคุณภาพ ในปีที่ผ่านมาเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ผลิตรถยนต์นั่งภายใต้แบรนด์ เมอร์เซเดส-เบนซ์ และ สมาร์ท รวมกว่า 2.4 ล้านคัน ซึ่งเป็นการสร้างสถิติใหม่เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน เครือข่ายดังกล่าวครอบคลุมทั้งสถาปัตยกรรมรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า (รถยนต์คอมแพคท์) และขับเคลื่อนล้อหลัง (อาทิ S-Class, E-Class และ C-Class) ตลอดจนสถาปัตยกรรมรถยนต์อเนกประสงค์และรถยนต์สปอร์ต นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม การผลิตระบบส่งกำลัง (เครื่องยนต์, ชุดเกียร์, เพลา และส่วนประกอบต่างๆ) โดยโรงงานต่างๆ ในกลุ่มการผลิตดังกล่าวจะตั้งอยู่รายล้อมโรงงานหลัก (Lead Plant) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความรู้ความเชี่ยวชาญสำหรับการเตรียมเดินเครื่องผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนการรับประกันคุณภาพ ในปัจจุบันเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์มี ความพร้อมสำหรับการสัญจรที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยได้สร้างศูนย์นวัตกรรมไฟฟ้า (Electro Hub) ขึ้นทั่วโลกเพื่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ภารกิจประจำวันจะเน้นการสร้างพัฒนาการและความเป็นเลิศด้านวิธีการผลิตอันทันสมัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้การผลิตรถยนต์ไฮเทคในอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เต็มไปด้วยความยืดหยุ่น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับมาตรฐานด้านคุณภาพที่ขึ้นชื่อของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ทั้งหมดนี้มีพนักงานและความรู้ความเชี่ยวชาญของพวกเขาเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งการทำงานของพวกเขาได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบด้วยการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ของสถานที่ทำงานอย่างเหมาะสม พร้อมด้วยระบบออโตเมชั่น อันชาญฉลาด นอกจากโรงงานผลิตที่เป็นของตนเองแล้ว เมอร์เซเดส-เบนซ์ยังสร้างพลังจากการร่วมมือกับพันธมิตรและใช้ขีดความสามารถของผู้รับดำเนินงานด้านการผลิตเพื่อเป็น ส่วนหนึ่งในกลยุทธ์การเติบโตของบริษัทฯ อีกด้วย

เกี่ยวกับบริษัทเมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

โรงงานของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ โดยการผลิตรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วด้วยรุ่น W123 โรงงานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายการผลิตทั่วโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ ในปัจจุบันการผลิต ณ โรงงานแห่งนี้มีพันธมิตรในประเทศไทย คือธนบุรีประกอบรถยนต์ รับหน้าที่ผู้ดำเนินงานทั้งการประกอบรถยนต์ งานตัวถัง และงานสี โดยรถยนต์ที่ดำเนินการผลิตอยู่ในปัจจุบันมีทั้งหมด 9 รุ่น ได้แก่ C-Class, E-Class, S-Class, GLE, GLA, CLA, GLC, GLC Coupe และ C-Class Coupe เฉพาะในปี 2560 เพียงปีเดียว ธนบุรีประกอบรถยนต์สามารถผลิตรถยนต์ให้กับเมอร์เซเดส-เบนซ์ได้มากถึง 12,000 คัน ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้มีพนักงานกว่า 1,000 คน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version