บริจาคเงินเพื่อให้เด็กได้เข้าเรียนถือเป็นสินบน ผิดทั้งผู้ให้ผู้รับ : เตรียมสุ่มตรวจ “แป๊ะเจี๊ยะ” ปีการศึกษา ๒๕๖๑

พฤหัส ๑๕ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๐:๕๕
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าปัญหาการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา (แป๊ะเจี๊ยะ) เป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งจากรายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ประจำปี ๒๐๑๗ เปิดเผยข้อมูลความเห็นของคนไทยว่าการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้รับบริการของรัฐและบริการของโรงเรียน เป็นปัญหาลำดับต้น ๆ สมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา โดยมี พลเอก บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ

ผลการศึกษาพบว่าแม้การเรียก รับหรือยอมจะรับ "แป๊ะเจี๊ยะ" จะเป็นการสมยอมกันของผู้ปกครองกับผู้มีอำนาจของสถานศึกษา เพื่อให้บุตรหลานได้เข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง ดี เด่น ดัง ซึ่งมีการแข่งขันสูง เป็นเพราะผู้ปกครองมีความเชื่อว่า "คุณภาพทางการศึกษาของแต่ละสถานศึกษามีความแตกต่างกัน" ทำให้เกิดช่องทางในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในรูปแบบของการเรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด รวมถึง "เงินบริจาค" ให้สถานศึกษาหรือสมาคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกกับการได้รับโควตาพิเศษให้บุตรหลานได้เข้าเรียน ซึ่งการบริจาคเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์หรือมีเงื่อนไขผูกพันที่จะให้ประโยชน์ต่อผู้ใดโดยเฉพาะ จึงมิใช่ความหมายของการบริจาคที่แท้จริง ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยวินิจฉัยคดีไว้เมื่อปี 2550 ว่าเงินบริจาค หมายถึง เงินที่ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ แต่หากเป็นการให้เงินเพื่อตอบแทนการกระทำการใด ๆ จึงเป็นเงื่อนไขต่างตอบแทนไม่อาจถือเป็นเงินบริจาคได้ ผู้รับมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ผู้ให้มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 และยังมีความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. ด้วย

เพื่อเป็นการป้องปรามและลดปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงรับนักเรียน ปีการศึกษา 2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเห็นชอบมาตรการระยะสั้นเร่งด่วน ดังนี้

๑. ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบการรับนักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๖๑ ของสถานศึกษา ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษาที่มีอัตราการแข่งขันสูง

๒. เร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้เจ้าพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ปกครอง นักเรียน และประชาชน ทราบถึงความผิดและบทลงโทษ รวมทั้งการแจ้งเบาะแสกรณีการเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียน โดยเฉพาะกรณีการบริจาคเพื่อให้ได้ประโยชน์ตอบแทน ถือว่าเป็นสินบน มีความผิดทั้งผู้ให้และผู้รับสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมาย ป.ป.ช.

สำหรับมาตรการในระยะยาวและมาตรการอื่น ๆ เพื่อป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการ เร่งพิจารณาจัดทำมาตรการและข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามลำดับ ซึ่งการเสนอมาตรการต่อคณะรัฐมนตรีเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมาย

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม