นายชำนาญ พงษ์ศรี รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กระเบนน้ำจืดและน้ำเค็มจะมีพิษอยู่บริเวณปลายเงี่ยงหาง ภาษาคนเลี้ยงทั่วไปจะเรียก "เมือกพิษ" แต่ไม่ได้ร้ายแรงมาก เบื้องต้นคนที่ได้รับพิษจะมีอาการปวด แต่ไม่ต้องตกใจเพราะอาการปวดจะคล้ายกับที่เราโดนสัตว์มีพิษอื่นๆ ถ้าเทียบกับปลาก็เหมือนเงี่ยงปลาดุก ปลากด สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจะต้องสลายพิษออกไป จากร่างกายก่อน โดยผู้เลี้ยงปลากระเบนส่วนใหญ่จะใช้วิธีประคบร้อนบริเวณปากแผล โดยประคบไปเรื่อยๆจนกว่าอาการจะทุเลา บางรายจะใช้วิธีจุ่มแผลลงน้ำร้อนเท่าที่จะทนไหวทำไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีการใช้วิธีรีดพิษออกตรงจากแผลพิษปลากระเบนจะมีลักษณะเป็นเมือกสีคล้ำๆ ออกจากตัว หลังจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้วให้รักษาแผลแบบทั่วไปอาจจะใช้ยารักษาแผลสด และรักษาแผลให้แห้งอยู่เสมอ จะช่วยทำให้อาการจะดีขึ้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอาการแพ้ของแต่ละคน บางคนแพ้มากก็จะปวดหลายวันบางคนแพ้น้อยจะปวดประมาณ 1-2 วันก็ทุเลาลง ในบางรายที่แผลมีขนาดใหญ่ อาจจะเกิดเนื้อตายบริเวณแผลต้องปรึกษาแพทย์ ซึ่งเมื่อรักษาหายแล้วเนื้อจะขึ้นมาใหม่ทดแทนเนื้อที่ตายไป
ด้านกฎหมายคุ้มครองปลากระเบน หลังจากที่คณะอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES) ได้ขึ้นทะเบียนปลากระเบนน้ำจืดอยู่บัญชีไซเตสหมายเลข 3 (Appendix III) กล่าวคือ เป็นปลาชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วขอความร่วมมือประเทศภาคีสมาชิกให้ช่วยดูแลการนำเข้า คือจะต้องมีหนังสือรับรองการส่งออก จากประเทศถิ่นกำเนิดปลากระเบน ดังนั้นการนำเข้า-ส่งออก หรือนำผ่าน จะต้องมีใบ Cites permit หรือ สป. 5
นางอรุณี รอดลอย หัวหน้ากลุ่มวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและพรรณไม้น้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ปลากระเบนน้ำจืดสกุล Potamotrygon spp. ได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชีไซเตสหมายเลข 3 (Appendix III)
ทางกรมประมงได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งให้เกษตรกร ที่ต้องการส่งออกไปต่างประเทศมาแจ้งการครอบครองกับทางกรมประมง (ภายใน 15 มีนาคม 2560) ซึ่งหลังจากที่แจ้งครอบครองเรียบร้อยแล้ว หากผู้ประกอบการ บางรายต้องการที่จะเพาะขยายพันธุ์ปลากระเบน จะต้องมาขอขึ้นทะเบียนฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่อยู่ในอนุสัญญาไซเตส ซึ่งทางกรมฯ จะให้ทางฟาร์มจดบันทึกจำนวนปลาในฟาร์มที่เพาะพันธุ์ได้และแจ้งให้ทางกรมฯ ทราบเพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลประกอบการออกใบอนุญาต Cites permit หรือ สป. 5 ดังนั้นหากเกษตรกรขึ้น
ทะเบียนถูกต้องก็จะสามารถส่งออกปลากลุ่มนี้ได้ โดยมาขออนุญาตส่งออกจากทางกรมประมง ทางเกษตรกร จะได้รับใบ Cites permit หรือ สป. 5 ก็จะสามารถส่งออกสัตว์น้ำที่อยู่ในอนุสัญญาไซตสได้ เช่นเดียวกันกับการนำเข้าสัตว์น้ำหรือปลาที่ขึ้นทะเบียน บัญชีไซเตสหมายเลข 3 ทางกรมประมงจะต้องดูใบ Cites permit จากประเทศ ต้นทาง เพื่อเป็นการช่วยกันดูแล และอนุรักษ์ สัตว์น้ำที่ถูกจัดอยู่ในบัญชีไซเตส ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม จนอาจสูญพันธุ์
สุดท้ายอยากฝากถึงคนที่เลี้ยงปลากระเบน หากเผลอไปโดนกระเบนทิ่มเข้าผิวหนัง ไม่ต้องตกใจให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างที่แจ้งข้างต้น สำหรับบางรายที่มีอาการแพ้หนักและกังวลสามารถไปโรงพยาบาลเพื่อให้ทางแพทย์ช่วยดูแลไม่ให้แผลอักเสบหรือลุกลาม สำหรับผู้เลี้ยงปลากระเบนที่จะต้องให้อาหารหรือล้างตู้ปลาก็อาจจะมีการป้องกันไม่ให้โดนเงี่ยงปลาที่มีพิษที่บริเวณหาง ซึ่งผู้เลี้ยงส่วนใหญ่จะนิยมตัดปลายเงี่ยงหางออก(ตรงส่วนปลายที่แหลม) หรืออาจจะใช้สายออกซิเจนตัดเป็นท่อนเล็กๆเสียบเข้าไปบริเวณเงี่ยงหาง เวลาที่ต้องให้อาหารปลา ดูแลปลาหรือรบกวนปลาในบ่อจะป้องกันการโดนเงี่ยงปลากระเบนได้