การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งเดินเครื่องพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค พร้อมศึกษาตัวอย่างระบบอัจฉริยะจากประเทศญี่ปุ่นจาก NEC Corporationเช่น ระบบเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า ที่มีความแม่นยำในการตรวจสอบสูงที่สุดในโลก พร้อมศึกษาตัวอย่างการดำเนินงานการจัดประมูลของตลาดกลางโอตะ ที่เป็นตลาดกลางค้าส่ง ผัก ผลไม้ และไม้ดอก ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และมีระบบการประมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะนำประโยชน์จากระบบตลาดประมูลมาประยุกต์ใช้ในการซื้อขายผลไม้ในโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก(Eastern Fruit Corridor : EFC) ของไทย สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองประชาสัมพันธ์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ โทร. 0 2253 0561 ต่อ 1193
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่ กนอ.ได้มีนโยบายในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง นั้น ล่าสุด กนอ.ได้นำคณะผู้ดำเนินงานด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเดินทางมายังประเทศญี่ปุ่นเพื่อมาศึกษาเทคโนโลยี การคิดค้นนวัตกรรม รูปแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทันสมัย รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวรวมถึงนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่กำลังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศและภูมิภาค
สำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมใหม่ตามเป้าหมายของรัฐบาล เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมอากาศยาน โดยจะขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ 9 สมาร์ทนั้น กนอ.ได้เริ่มศึกษาเทคโนโลยีและแนวทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Smart Security (ความปลอดภัยสาธารณะและการคมนาคมขนส่ง) จาก NEC Corporation ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้การยอมรับจากหลายๆอุตสาหกรรมทั่วโลกทั้งในเรื่องของการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาธุรกิจ ทั้งในด้านเครือข่ายระบบโทรศัพท์และโครงข่ายการติดต่อสื่อสาร ระบบปฏิบัติการไอที ระบบการรักษาความปลอดภัย รวมถึงด้านระบบโลจิสติกส์ นอกจากนี้ NEC ยังมีนวัตกรรมที่ช่วยสร้างเมืองที่ชาญฉลาดทั่วโลก (Smart City) โดยเฉพาะเทคโนโลยีการรู้จำใบหน้า NeoFace ที่มีความถูกต้องในการตรวจสอบสูงสุดในโลก มีฟังก์ชั่นในการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ เมื่อระบบสามารถตรวจจับได้ว่าใบหน้าของคนที่กำลังเข้ามาในพื้นที่ของกล้องตรงกับใบหน้าของคนในฐานข้อมูลที่ควรเฝ้าระวังหรือที่อยู่ในความสนใจ ซึ่งจะช่วยให้ระบบการเฝ้าระวังอาชญากรรม มีความถูกต้องและรวดเร็ว และยิ่งเมื่อรวมกับความสามารถในการทำงานร่วมกับกล้องแบบพกพาได้ยิ่งทำให้การตอบสนองสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงเป็นไปอย่างทันท่วงทีอีกด้วย
นายวีรพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในการจัดตั้งโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) ภายในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค กนอ. ยังได้ ร่วมศึกษาต้นแบบการบริหารจัดการจาก Ota Wholesale Market หรือที่รู้จักกันในชื่อตลาดกลางโอตะ ซึ่งเป็นตลาดค้าส่ง ผัก ผลไม้ และไม้ดอกที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และมีระบบการประมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยการเข้ามาศึกษาตัวอย่างการดำเนินงานในครั้งนี้จะนำประโยชน์จากระบบตลาดประมูลมาประยุกต์ใช้ในการซื้อขายผลไม้ในโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก โดยเชื่อว่าจะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการต่อรองราคา ต่อเนื่องถึงการจัดทำห้องเย็นขนาดใหญ่สำหรับกักตุนผลผลิตที่รวบรวมได้จากเกษตรกร ก่อนกระจายสินค้าไปยังตลาดต่างๆ โดยจะมีการศึกษา 4 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ 1.การตรวจสอบสินค้าก่อนประมูล (Inspection prior to auction) ขั้นตอนที่ผู้รับช่วงค้าส่งและผู้มีสิทธิ์ซื้อ จะตรวจสอบสินค้าก่อนการประมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะนำไปขายต่อในราคาเท่าไหร่ 2.การเริ่มประมูล (Start of the auction) ขั้นตอนที่สินค้าทั้งหมดจะถูกนำมาประมูล โดยผู้ที่ให้ราคาที่สูงที่สุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล โดยการประมูลนั้นจะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และผู้มีสิทธิ์ร่วมประมูลจะประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต และพ่อค้าคนกลาง เท่านั้น 3.การตรวจสุขอนามัยของสินค้า (Hygiene Checks) เมื่อการประมูลเสร็จสิ้นลงจะมีการตรวจเช็คคุณภาพของสินค้า โดยจะมีหน่วยงานตรวจสอบสุขอนามัย ในสถานที่ประมูล สถานที่จำหน่าย และตรวจสอบมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้า ซึ่งหากตรวจพบว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จะถูกระงับไม่ให้จำหน่ายทันที และ 4.การกระจายสินค้า (Distribution) โดยผู้รับช่วงค้าส่ง จะนำสินค้าที่ประมูลได้ออกจำหน่ายให้ผู้ซื้อในเวลาที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ ระบบการประมูลสินค้าเกษตรในรูปแบบนี้จะช่วยให้เกิดการรวบรวมสินค้าในปริมาณที่มากและหลากหลาย จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าต่างๆ เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้สามารถควบคุมราคาโดยอาศัยหลักพื้นฐานของการประมูลผู้ให้ราคาสูงสุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล เพื่อสร้างราคาที่เป็นธรรมให้กับเกษตรกร สามารถตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานของผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างทั่วถึง มีข้อมูลที่สามารถตรวจเช็คได้ว่าเป็นสินค้าจากที่ไหน จำนวนเท่าใด ถูกส่งขายไปจำหน่ายต่อยังที่ใดบ้าง และราคาขายส่ง ณ วันนั้น อยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งสำหรับประเทศไทยถือเป็นผู้นำด้านการผลิตผลไม้เมืองร้อน ทั้งผลไม้สดและแปรรูป และเป็นประเทศถือครองส่วนแบ่งตลาดผลไม้เมืองร้อนมากที่สุดของโลก หากนำระบบการประมูลสินค้าเกษตรแบบโอตะมาใช้จะช่วยให้สามารถคุมกลไกการค้าผลไม้เมืองร้อนได้ และทำให้เกิดการสร้างแบรนด์ประเทศไทยกับผลไม้ ให้ผู้บริโภครับรู้ว่าผลไม้ไทยเป็นผลไม้เมืองร้อนที่ดีที่สุด นายวีรพงศ์ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองประชาสัมพันธ์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ โทร. 0 2253 0561 ต่อ 1193