สำหรับสหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมแปลงใหญ่วัดเพลง จำกัด ถือเป็นสหกรณ์ที่ตั้งในพื้นที่แปลงใหญ่มะพร้าว ที่ผ่านมาได้มีการแลกเปลี่ยนและเสนอแนวทางให้สหกรณ์พัฒนาแนวทางในเรื่องของการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ โดยพยายามเชื่อมโยงตลาดทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ รวมทั้งการรวมกันซื้อ-รวมกันขาย โดยเฉพาะการจัดหาปัจจัยการผลิตที่ใช้ในแปลงมะพร้าวของสมาชิกสหกรณ์ได้รวมเป็นกลุ่มแปรรูปมะพร้าว ซึ่งสมาชิกกลุ่มได้มีการแปรรูปเป็นน้ำมะพร้าวแท้ 100% ขนมข้าวหลามในมะพร้าวอ่อน ซึ่งขายส่งและขายปลีกเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ในขณะที่สหกรณ์มีการเพาะพันธุ์มะพร้าวจำหน่ายในราคาตันละ 85 บาท โดยผลิตจากต้นแม่พันธุ์ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี จึงมีคุณภาพและสายพันธุ์ที่แท้ 100%
นายประยูร กล่าวว่า การเข้าไปช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจรวบรวมและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรให้กับสหกรณ์นั้น ปัจจุบันจะต้องส่งเสริมให้สหกรณ์ใช้การตลาดมานำการผลิต โดยในเรื่องของการตลาดนั้น สหกรณ์ต้องศึกษาถึงแนวโน้มความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพื่อนำมาปรับใช้ในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและตรงกับที่ตลาดต้องการ ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์เพื่อสนับสนุนด้านเงินทุนให้สหกรณ์กู้ยืมไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนรวบรวมผลผลิตจากสมาชิก ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ สามารถกำหนดระยะการส่งชำระหนี้ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในปัจจุบันด้วย
ขณะที่แนวทางใช้ตลาดมานำการผลิตนั้น ถือเป็นนโยบายสำคัญของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานได้นำมาใช้ในการบริหารงานเกษตรกรรมในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้แน่นอน และมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ โดยให้สำนักงานเกษตรจังหวัดและอำเภอรวมทั้งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดและประสาน ธกส.พื้นที่ เพื่อร่วมกันคัดเลือกผลผลิตการเกษตรในพื้นที่จากโครงการตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรผสมผสาน เกษตรปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (smart farmers & young smart farmer) หรือผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตรที่เข้มแข็ง เพื่อให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนำไปเป็นข้อมูลประสานงานหาผู้รับซื้อผลผลิตจากพื้นที่โดยตรง
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้สั่งการให้ทุกจังหวัดรวบรวมข้อมูลผลผลิต ทางการเกษตร พร้อมรายละเอียดช่องทางการติดต่อซื้อขายผลผลิตจากเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์ในจังหวัดส่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จัดทำข้อมูลประกอบการทำเวปไซต์ ก่อนให้สศก. และสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำเวปไซต์ และข้อมูลสำคัญ หรือ Big Data เกี่ยวกับผลผลิตการเกษตรที่ได้รับรายงานจาก สำนักเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ มาจัดทำให้เป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเพื่อเป็นช่องทางให้ผู้สนใจสามารถติดต่อแหล่งซื้อขายสินค้าการเกษตรได้โดยตรงจากพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งให้นำระบบซื้อขายผ่าน e-commence มาเป็นช่องทาง ในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรแบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้นด้วย