พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้จัดการสำนักจัดการงานวิจัยและประสานโครงการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. นั้น เป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน ผ่านกระบวนการอบรมให้ความรู้จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และการปฏิบัติงานด้วยความเป็นจิตอาสา อสม. นับเป็นกำลังสำคัญจากภาคประชาชนที่มาทำงานร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขอย่างแข็งขัน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาอาจยังพบข้อจำกัดในการทำงานของ อสม. อยู่บ้างตามขีดความสามารถเฉพาะบุคคล ทั้งนี้ กระบวนการเสริมสร้างบทบาท อสม. ให้มีศักยภาพในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสมกับบริบทของชุมชนพื้นที่นั้นๆ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการทำงานของ อสม. ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
"แนวคิดการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เป็นการทำงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมไม้ร่วมมือและการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมองหาจุดแข็งของกันและกัน เป็นต้นทุนในการพัฒนางานวิจัยให้สามารถนำความรู้ไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ตลอดจนการดูแลฟื้นฟูสุขภาพกลุ่มประชากรเปราะบาง รวมทั้งเป็นกรอบการสร้างและยกระดับศักยภาพของ อสม. ซึ่งเป็นกระบวนการวิจัยเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทั้งที่เป็นชาวบ้านและนักพัฒนา กับผู้วิจัยภายนอก เพื่อให้เกิดการพัฒนาสอดคล้องกับสภาพสังคมนั้นๆ"
พญ.วัชรา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา สวรส. ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ที่มีการพัฒนาระบบเครือข่าย การพัฒนาระบบบริการ การพัฒนาหลักสูตร ที่มีการอบรมพัฒนาศักยภาพและเสริมสมรรถนะ อสม. ในการเป็นผู้จัดการรายกรณี เพื่อสนับสนุนให้ทั้งสูงอายุที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ได้รับการบริการสุขภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บนกระบวนการติดตามการดำเนินงานเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพต่อเนื่อง อาทิเช่น โครงการพัฒนาเครือข่ายบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและกลุ่มติดเตียงฯ ในพื้นที่ชุมชนฮ่องห้า (หมู่ 1,6,7,8) ต.น้ำโจ้ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง มี อสม. ผ่านการพัฒนาศักยภาพเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 15 คน มาร่วมดูแลผู้สูงอายุฯ 62 รายในชุมชน ผลจากการปฏิบัติงานของ อสม. สามารถเข้าถึงชุมชน เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การให้อาหารทางสายยาง การดูแลสายระบายปัสสาวะ รวมถึงบางรายต้องการรถเข็นหรือเตียงซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่าย อสม. ก็จะเป็นตัวกลางประสานหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาลหรือพัฒนาสังคมจังหวัดดำเนินการจัดหา
โครงการการพัฒนารูปแบบการจัดการสุขภาพของผู้สูงอายุไทยมลายูที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในวิถีแห่งวัฒนธรรมในภาคใต้ของไทย ในชุมชนบ้านควน (หมู่ 1,4) ต.บ้านควน อ.เมือง จ.สตูล โดยการมีการอบรมผู้ดูแล 33 ราย และ อสม. 45 ราย ดูแลผู้สูงอายุที่เป็น ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการสื่อสารในชุมชน เนื่องจากโรคความดันโลหิตเป็นภัยเงียบที่อาจเกิดภาวะเส้นเลือดตีบ แตก ตันได้ทุกช่วงนาที จึงจัดทำนวัตกรรมดูแลสุขภาพ ได้แก่ ปฏิทินเตือนใจให้กินยาของผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งในปฏิทินจะมีตลับยาที่จะช่วยลดปัญหาการลืมกินยาหรือหยุดใช้ยาเองของผู้ป่วย การทำแบบบันทึกการติดตามสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแลหรือ อสม. พร้อมคู่มือ 2 ภาษาไทย-มลายู ทำให้ผู้ป่วยเริ่มมีพฤติกรรมการกินอาหารตามคำแนะนำ และกินยาตามแพทย์สั่ง ส่วนในรายที่ประเมินแล้วมีอาการไม่ดีขึ้น จะประสาน รพ.สต. เข้ามาดูแล
โครงการวิจัยพัฒนาศักยภาพ อสม. เป็นผู้จัดการรายกรณีในการดูแลคนพิการสูงอายุในชุมชน ในพื้นที่ ต.นาเคียน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีคนพิการรวมทุกประเภท 305 คน เป็นคนพิการสูงอายุช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 50 คน จึงได้พัฒนาหลักสูตร โดยมี อสม. ผ่านการอบรมรวม 27 ราย จาก 9 หมู่บ้านๆ ละ 3 คน และสร้างรูปแบบการจัดการรายกรณี ในการลงพื้นที่ฟื้นฟูคนพิการสูงอายุในชุมชน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ร่วมกับนักกายภาพบำบัด พยาบาลวิชาชีพ โดย อสม.จะมีสมุดบันทึกการเยี่ยมผู้สูงอายุ เพื่อให้ อสม. ได้บันทึกสัญญาณชีพ ประเมินสุขภาพจากที่ได้รับการอบรมมา เพื่อรายงานต่อ รพ.สต. ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการติดตามอาการ หรือวางแผนการส่งต่อ ผลการทำงานติดตามคนพิการสูงอายุในพื้นที่ มีผลลัพธ์ที่สำคัญคือ ญาติผู้ป่วยมีความเชื่อในการดูแลของ อสม. ในการกายภาพบำบัดเบื้องต้นให้กับผู้ป่วย การแนะนำการปรุงอาหารให้กับผู้ป่วยที่มีเบาหวานแรกซ้อนได้ โดยทุกสัปดาห์ญาติผู้ป่วยต่างเฝ้ารอทีม อสม. เตรียมน้ำเตรียมอาหารต้อนรับ จนเกิดความสนิทสนมเสมือนเป็นญาติกัน