ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
การเติบโตของบริษัทมีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรง
ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้บริษัทสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อและลีสซิ่งอุปกรณ์และเครื่องจักรของญี่ปุ่นรวมถึงบริษัทในเครือของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่ใช้การแข่งขันด้านราคาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของตน ทั้งนี้ บริษัทมีพอร์ตสินเชื่อ (เฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อเช่าการเงิน) ลดลง 1.6% ในปี 2560 หรือลดลงเป็น 5,520 ล้านบาท จาก 5,608 ล้านบาทในปี 2559 จากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจะเป็นโอกาสของบริษัทในการขยายพอร์ตสนเชื่อ แต่ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงน่าจะเป็นความท้าทายสำหรับบริษัทในการขยายพอร์ตเช่นกัน
ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าจากการพึ่งพิงเฉพาะลูกค้ารายใหญ่
ธุรกิจของบริษัทถือว่ามีความกระจุกตัวเนื่องจากบริษัทดำเนินธุรกิจเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยผ่านการให้บริการของสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าด้วยเนื่องจากลูกค้ารายใหญ่ 10 รายแรกของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของพอร์ตสินเชื่อของบริษัท ณ เดือนธันวาคม 2560 ซึ่งการกระจุกตัวของลูกค้ารายใหญ่จะส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อบริษัทได้ หากลูกค้ารายใหญ่บางรายประสบปัญหา ยกตัวอย่างเช่นกรณีลูกค้ารายใหญ่ตั้งแต่ปี 2559
คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทถดถอยลง
บริษัทมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีตลอดมาจนกระทั่งปี 2559 อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระเกิน 3 เดือน) ต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% ในปี 2556 ถึง ปี 2558 อย่างไรก็ดี คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทถดถอยลงหลังจากมีปัญหากับลูกค้ารายใหญ่กลุ่มหนึ่งในปี 2559 ทำให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 8.7% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 หากไม่รวมผลกระทบจากลูกค้ากลุ่มดังกล่าวแล้ว คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทยังถือว่าดีและมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ค่อนข้างต่ำ โดยที่สถานะทางธุรกิจของบริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด ภายหลังจากการปรับโครงสร้างและการติดตามหนี้ที่เข้มงวด ทำให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทลดลงเป็น 4.3% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้รับผลกระทบจากคุณภาพสินทรัพย์ของลูกค้ารายใหญ่
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2559 รายได้สุทธิของบริษัท (ปรับจากรายได้สุทธิของธุรกิจให้เช่าดำเนินงาน) อยู่ที่ 592 ล้านบาทในปี 2559 และ 544 ล้านบาทในปี 2560 ลดลงจาก 633 ล้านบาทในปี 2558 ผลประกอบการที่ลดลงอย่างมากในปี 2559 และ 2560 มีสาเหตุหลักมาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลง ทำให้บริษัทต้องตั้งค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สงสัยจะสูญมากถึง 319 ล้านบาทในปี 2559 และ 294 ล้านบาทในปี 2560 เป็นผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพียง 40 ล้านบาทและ 37 ล้านบาทในปี 2559 และปี 2560 ตามลำดับ
อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5% ในปี 2560 และบริษัทมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยลดลงเป็น 1.97% ในปี 2560 ในขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 14.8% ในปี 2558 เป็น 16.7% ในปี 2559 และ 18.9% ในปี 2560
ความสามารถในการบริหารมูลค่าคงเหลือของสินทรัพย์ให้เช่าจะช่วยเพิ่มรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยให้แก่บริษัท ภายหลังจากที่ราคารถยนต์ใช้แล้วผ่านพ้นจุดต่ำสุดในปี 2557 ไปแล้ว บริษัทมีกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้เช่าเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านบาทในปี 2560 อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบันจะเป็นความท้าทายสำหรับบริษัทในการเพิ่มผลประกอบการทางการเงิน ไปพร้อมกับการมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีด้วย
สภาพคล่องเพียงพอ
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่ได้พึ่งพาแหล่งเงินทุนจากธนาคารกรุงเทพเป็นหลัก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 บริษัทมีเงินกู้ยืมจากธนาคารกรุงเทพเพียง 2.4% ของหนี้สินของบริษัททั้งหมด บริษัทได้กระจายแหล่งกู้ยืมไปยังสถาบันการเงินอื่นมากขึ้นรวมถึงการออกตราสารหนี้ในตลาดทุน บริษัทเริ่มมีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินในปี 2553 ออกหุ้นกู้ในปี 2554 และออก Shogun Bonds 6 ครั้งมูลค่ารวม 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างปี 2555-2560
บริษัทมีวงเงินสินเชื่อที่เพียงพอรองรับปัญหาการขาดสภาพคล่องในระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพจากการมีเงินผ่อนชำระรายเดือนจากลูกค้าและยังมีวงเงินสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพที่เก็บเอาไว้ใช้เป็นเงินทุนแหล่งสุดท้ายในกรณีที่มีความต้องการเพิ่มสภาพคล่องในอนาคตด้วย
ฐานเงินทุนแข็งแกร่ง
บริษัทถือว่ามีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง อัตราการจ่ายเงินปันผลที่ต่ำช่วยทำให้ฐานทุนของบริษัทปรับเพิ่มขึ้น โดยส่วนของผู้ถือหุ้นเป็น 1,858 ล้านบาทในปี 2560 ทำให้อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงเป็น 23% ในปี 2560 อัตราส่วนดังกล่าวถือว่าค่อนข้างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับคู่แข่ง บริษัทยังมีเงินกองทุนที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่ถดถอย ณ เดือนธันวาคม 2560 บริษัทรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 3.4 เท่า เมื่อเทียบกับ 3.3 เท่า ณ เดือนธันวาคม 2559
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มความหลากหลายของแหล่งเงินกู้ไปด้วย การพิจารณาแนวโน้มอันดับเครดิตยังรวมไปถึงความคาดหมายที่คณะผู้บริหารของบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดในปัจจุบันเอาไว้ได้ ในขณะที่ฐานทุนจะยังคงแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอย และบริษัทจะมีผลประกอบการทางการเงินตามที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงได้ หากบริษัทยังคงมีการเสื่อมถอยของคุณภาพสินทรัพย์และสถานะทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การปรับอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง หากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบริษัทมีสถานะเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารกรุงเทพภายใต้การกำกับดูแลแบบรวมกลุ่มของธนาคารแห่งประเทศไทยอันดับเครดิตของบริษัทก็มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นจากการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มธนาคารกรุงเทพ