สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กลุ่มดินสอสี เครือข่ายพื้นที่นี้ดีจัง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) เดินหน้าต่อยอดยุทธศาสตร์ 3ดี สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี มาเป็นตัวชูโรงเปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความสุข สร้างเยาวชนนักสื่อสาร ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่จะนำคุณค่าและจิตวิญญาณของชุมชนให้กลับมาขยายพื้นที่ครอบคลุม 35 จังหวัดทั่วประเทศ ปั้นเยาวชนนักสื่อสารสุขภาวะกว่า 2,000 คน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เปิดเผยว่า "ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้คนในสังคมเริ่มเกิดภาวะ 'ไร้สุข' หลายคนเริ่มรู้สึกว่าสังคม 'อยู่ยาก' ขึ้นทุกวัน การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเรื่องท้าทาย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสื่อและเทคโนโลยีที่ดูเหมือนยิ่งก้าวไกลไปเท่าไร กลุ่มคนรุ่นใหม่กลับยิ่งรู้สึกแปลกแยกกับตัวเองและสังคมมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เด็กและเยาวชนหลายคนแม้จะมีความสุขทางกาย แต่ลึกๆ ในใจกลับรู้สึกว่างเปล่า หาตัวตนหรือคุณค่าของตัวเองไม่เจอ"
"สสส. ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะ ทุกมิติ รวมถึงการส่งเสริมปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อวิถีชีวิตสุขภาวะ คนไม่อาจมีความสุขได้ในสภาพพื้นที่สังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาและความเสี่ยง แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. โดยการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน อาทิ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กลุ่มดินสอสี เครือข่ายพื้นที่นี้ดีจัง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) จึงจับมือเดินหน้าใช้ ยุทธศาสตร์ 3ดี สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี มาเป็นตัวชูโรงเปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่แห่งความสุข สร้างเยาวชนนักสื่อสารสุขภาวะ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่จะนำคุณค่าและจิตวิญญาณของชุมชนให้กลับมาอีกครั้ง" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
โครงการ 'รองเมืองเรืองยิ้ม' และ 'คลองเตยดีจัง' คือตัวอย่างของโครงการที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุมชนแออัด ที่เมื่อเอ่ยชื่อก็นึกถึงสภาพชุมชนเสื่อมโทรมที่เต็มไปด้วยปัญหายาเสพติดให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ด้วยงานศิลปะของเด็กและเยาวชน
เชษฐา มั่นคง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) หนึ่งในภาคีเครือข่ายแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า "รองเมืองเรืองยิ้มเป็นการดำเนินงานที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสุขภาวะใน 4 ชุมชนย่านรองเมือง เขตปทุมวัน กทม. เราสร้างกระบวนการให้เด็กและเยาวชนในชุมชนออกค้นหาเรื่องราวในวิถีชีวิต อาหาร ภูมิปัญญาเก่าแก่ของชุมชน แล้วนำมาพัฒนาเป็นสื่อสร้างสรรค์ ตกผลึกเป็นความรู้ เกิดเป็นความรัก เห็นคุณค่าชุมชนของตัวเอง" "วันนี้หากใครเดินเข้าไปในชุมชนรอบรองเมือง ก็จะเห็นพื้นที่งานศิลปะอยู่บนกำแพงในเกือบทุกตรอกซอกซอย มีงานศิลปะจากขวดน้ำที่สร้างสรรค์จากอาชีพเก็บขยะของคนในชุมชน ภาพวาดบนกำแพงแสดงเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของชุมชนที่มาจากความร่วมมือจากหลายหน่วยงานภายนอกที่เห็นคุณค่าของโครงการและเข้ามาทำงานพัฒนาร่วมกัน ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา วิทยาลัยเพาะช่าง ฯลฯ" เชษฐา กล่าวเพิ่มเติม
เช่นเดียวกับพื้นที่ชุมชนคลองเตย ที่วันนี้ได้ใช้ศิลปะเปลี่ยนชุมชนโรงหมูเก่าร้างด้วยงานศิลปะจนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เริ่มต้นจากการทำงานในนามเครือข่ายพื้นที่นี้ดีจังของกลุ่มอาสาสมัครครูดนตรี MUSIC SHARING ที่นำดนตรีและศิลปะมาทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนในชุมชนอย่างต่อเนื่องมากว่า 5 ปี ทำให้พื้นที่เสี่ยงอย่างคลองเตยกลายเป็นพื้นที่เปิด เกิดเป็นความร่วมมือจากคนในพื้นที่ ชุมชนอาสาสมัครและองค์กรภายนอก ที่เข้ามาช่วยกันเปลี่ยนคลองเตยชุมชนแออัดให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ โดยเปิดเป็นงานเทศกาลให้บุคคลภายนอกได้ชมกันในเทศกาล Soul of Klongtoey 'คลองเตยดีจัง' เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ด้าน ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) กล่าว "ศิลปะจะทำให้คนรู้สึกผูกพันกับชุมชน การพัฒนาชุมชนจะไม่ใช่หน้าที่ของผู้นำชุมชนเท่านั้น แต่จะเป็นใครก็ได้ สถาปนิก ศิลปิน พ่อค้าแม่ค้า คนในชุมชนทุกคนที่มาร่วมแรงร่วมใจกันจะทำให้เกิดความรู้สึกเห็นคุณค่า เราเรียกพื้นที่นี้ว่าพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นพื้นที่แห่งความสุข พื้นที่ทางปัญญา ซึ่งมันจะเชื่อมโยงนำไปสู่การพัฒนาเรื่องอื่น ๆ ทั้งสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจต่อไปในอนาคตได้"
การดำเนินงานสร้าง 'พื้นที่สร้างสรรค์' โดยแผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา ขยายเติบโตไปกว่า 35 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างเด็กและเยาวชนที่เป็นนักสื่อสารสุขภาวะในแต่ละชุมชนมากกว่า 2,000 คน หลายๆ พื้นที่สร้างสรรค์ขยายจากชุมชนกว้างไปสู่ระดับจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น เพชรบุรี อุตรดิตถ์ พัทลุง ศรีสะเกษ และล่าสุดที่จังหวัดนครราชสีมา เด็ก เยาวชน และชุมชนจับมือกันจัดมหกรรมเทศกาลงานยิ้มโคราช 2018 ตอน ยิ้มทั้งเดิ่น เปลี่ยนลานย่าโมให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะและวิถีชุมชน
"สิ่งที่สำคัญในการทำเรื่องนี้คือต้องให้เด็กและเยาวชนเป็นคนเดินเรื่อง ให้เขาออกมานำหน้า มันจะเกิดความสำเร็จที่แตกต่างจากในอดีตที่ผู้ใหญ่เป็นคนทำหรือบอกให้เด็กทำ ทั่วโลกมีการพิสูจน์ที่ตรงกันว่าเมื่อเราเปลี่ยนพื้นที่ มันจะเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนวิถีชุมชน นำสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้ นี่คือแนวคิดของพื้นที่สร้างสุขภาวะ เป็นเรื่องเดียวกันกับที่ สสส. และเครือข่ายองค์กรสุขภาพอื่นๆ กำลังเดินหน้าสร้างสรรค์ร่วมกัน มันเป็นเรื่องหนึ่งของสุขภาพด้วย คือสุขภาพของสังคมที่อยู่ร่วมกัน เพราะสุดท้ายแล้วเราทุกคนไม่สามารถที่จะมีชีวิตที่มีความสุขในสังคมที่ไร้ความสุขได้แน่นอน" เข็มพร กล่าวสรุป
ข้อมูลเพิ่มเติม www.thaihealth.or.th