ไฮไลต์ของงาน Our Futures 2030 ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต คือ การจัด The Futures Project ซึ่งเป็น โครงการทดลองภายใต้ความริเริ่มของเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม เพื่อนำเสนอแนวความคิดและริเริ่มกลไกที่นำเอา "อนาคต" มาเป็นเครื่องมือออกแบบและขับเคลื่อน โดยการร่วมสร้างของกลุ่มคนที่หลากหลายเพื่อนำพาสู่สังคมที่เป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า The Futures Project ประกอบด้วยกิจกรรมย่อยๆ ที่น่าสนใจหลายกิจกรรม หนึ่งในนั้นคือ เวทีสัมมนาสาธารณะเรื่องอนาคต (Futures Public Forum) ซึ่งจัดขึ้นเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายที่ขับเคลื่อนและนักวิชาการที่นำเอาความรู้เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องอนาคตมาพูดคุย แบ่งปัน แลกเปลี่ยน ถกเถียง และต่อยอดสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการออกแบบสังคมและประเทศที่พึงปรารถนาและเป็นของทุกคน ซึ่งในเวทีสัมมนานี้ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับอนาคตของการใช้ชีวิตและการอยู่อาศัย (Life and Living) อนาคตของการคมนาคม (Mobility) และอนาคตของการศึกษาเรียนรู้ (Learning)
เวทีสัมมนาสาธารณะเรื่องอนาคต ได้นำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจ ซึ่งในส่วนของ อนาคตของการใช้ชีวิตและการอยู่อาศัย นั้น ได้นำเสนอว่าหัวใจของการใช้ชีวิตและการอยู่อาศัยในอนาคตจะเน้นเรื่องความสะดวกสบายและการออกแบบที่มีความเฉพาะบุคคลมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้โดยมี Big Data, ปัญญาประดิษฐ์ หรือแม้แต่หุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสำคัญทั้งในชีวิต เช่น การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยรูปแบบเงินดิจิทัล โดยมีการนำ หุ่นยนต์Obodroid ที่พูดได้เสมือนนกแก้ว สามารถถามตอบราวกับอยู่ในโลกแห่งอนาคต โดยได้จำลองการแสดงออกของหุ่นยนต์ทั้ง 4 ตัว ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์เลี้ยง, อุปกรณ์อิเล็คโทรนิค และของประดับตกแต่ง ซึ่งล้วนจำลองมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา
ทางด้าน อนาคตของการเดินทางและการขนส่ง ได้นำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะพาไปถึงจุดที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของหรือขับรถเองอีกต่อไป อุตสาหกรรมรถยนต์จะคิดค้นหาวิธีการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่สะดวกสบายและเข้าถึงได้สำหรับคนทุกคน การเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ และเรื่องขนส่งที่ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ เช่น Smart Parking อาคารจอดรถอัตโนมัติขนาดใหญ่
สำหรับ อนาคตของการเรียนรู้ นั้น ปัจจุบันได้เริ่มขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียนออนไลน์ หรือวิชาเรียนที่ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลกก็สามารถเรียนได้ ดังนั้นการปรับตัวทั้งผู้เรียน ผู้สอน ผู้ที่จะเข้าสู่ตลาดทำงาน รวมถึงระบบการศึกษาที่ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กันจึงเป็นเรื่องจำเป็น เช่น การปรับตัวด้านการทำงาน ที่อาจจะมีหุ่นยนต์เป็นเพื่อนร่วมก็เป็นได้
ภายใต้กิจกรรม The Futures Project ยังมีการเปิดตัว ห้องทดลองแห่งอนาคต (Futures Lab) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมในอนาคต เป็นศูนย์กลางในการแสดงออกทางความคิดเกี่ยวกับอนาคต เพื่อที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และและสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับอนาคต ภายใต้ The Futures Lab จะประกอบด้วยกิจกรรมหลัก อาทิ งานสัมมนาเกี่ยวกับอนาคตในด้านต่างๆ แพลตฟอร์มที่เปิดรับความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหา และการสร้างนวัตกรรมในอนาคต อีกทั้งการอบรมเชิงปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีความสนใจ และสร้างเครือข่ายความรู้ร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับการทดลองทางความคิด และการให้คำปรึกษา หรือคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจผ่านการปฏิบัติจริงโดยผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และกิจกรรมอื่นๆ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการร่วมคิดร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคตกับสังคมได้
นอกจากนี้ ยังมีการจัด เทศกาลภาพยนตร์แห่งอนาคต เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องอนาคตที่เกี่ยวข้องกับตัวเราและสังคม ผ่านสื่อภาพยนตร์คุณภาพและสร้างสรรค์ จำนวน 8 เรื่อง โดยความร่วมมือกับองค์กรทางวัฒนธรรมจาก 3 ประเทศคือ บริติชเคาน์ซิล สหราชอาณาจักร, สถาบันเกอเธ่ เยอรมนี และเจแปนฟาวน์เดชั่น ญี่ปุ่น รวมทั้งมีพื้นที่กลางสาธารณะร่วมสร้างอนาคต (Futures Online Platform) ซึ่งเป็นเว็บไซต์แห่งอนาคต หรือพื้นที่กลางเพื่อการออกแบบเมืองในอนาคตอย่างมีส่วนร่วม ด้วยกระบวนการตั้งโจทย์ความท้าทายที่คำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนไปจนถึงการสร้างเครื่องมือเพื่อช่วยให้ใครก็ตามที่มีไอเดียสามารถพัฒนาไอเดียสู่นวัตกรรมที่แก้ปัญหาสังคมได้
อีกหนึ่งไฮไลต์ที่สำคัญในงานนี้ คือ การนำเสนอนวัตกรรมจากฝีมือนวัตกรที่ได้รับทุนจากโครงการนวัตกรรมแห่งสยาม 100 SID รวม 37 นวัตกรรม ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้งานนวัตกรรมของไทยที่มีจำนวนไม่น้อย ได้เปิดตัวสู่ตลาดให้ผู้คนได้เลือกใช้หรือหยิบไปพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจ เป็นการนำนวัตกรรมออกจากหิ้งสู่ห้าง ซึ่งในงานมีนวัตกรรมที่น่าสนใจและเป็นความหวังของสังคมไทยมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพ สามารถแจ้งเตือนเวลากินยาและชนิดของยา ระบบการสื่อสารกับญาติ เซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และชีพจร และยังมีนวัตกรรมเทคโนโลยีคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังด้วยโทรศัพท์มือถือ และแอพพลิเคชั่นติดตามและนำทางรถโดยสารแบบเรียลไทม์ เป็นต้น
"การจัดงาน Our Futures 2030 นับว่าสามารถตอบโจทย์เป้าหมายของเมืองนวัตกรรมแห่งสยามได้เป็นอย่างดี เราเชื่อว่านับจากนี้สยามสแควร์ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม นอกจากจะเป็นแหล่งช้อปปิ้งแล้ว ยังจะเป็นพื้นที่ที่สร้างสังคมอุดมปัญญาด้วย เพราะเราเชื่อว่าสังคมอุดมปัญญายุคใหม่ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในที่เงียบขรึมหรือในรั้วสถาบันการศึกษาอีกต่อไป" ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว