โดยในที่ประชุมได้สรุปภาพรวมของเศรษฐกิจของทั้ง 4 จังหวัดในกลุ่มภาคกลางตอนล่าง ในช่วงของเดือน มกราคม เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้ง 4 จังหวัด ซึ่งอุปทานด้านการผลิตมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการท่องเที่ยวในพื้นที่ ส่วนอุปสงค์ จ.เพชรบุรีและ จ.สมุทรสาคร มีการหดตัวจากการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่ขยับลดลงเล็กน้อย แต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์และ จ.สมุทรสงคราม ที่มีแนวโน้มการขยายการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยทั้ง 4 จังหวัด
จากนั้นได้มีการสรุปภาพรวมด้านการท่องเที่ยวภาพรวมของกลุ่มจังหวัด ปรากฏว่าในปีที่ผ่านมา มีรายได้ด้านการท่องเที่ยวรวมกันกว่า 61,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2559 กว่า 9.00% แบ่งเป็นตลาดนักท่องเที่ยว จากในประเทศกว่า 13.5 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 46,000 ล้านบาท และตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ กว่า 1.6 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 15,000 ล้านบาท และมีการคาดการณ์แนวโน้มภาคการท่องเที่ยวจะมีการขยายตัวในช่วงเดือนเมษายนที่ทางรัฐจัดให้มีวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์เพิ่มขึ้น จะทำให้มีเม็ดเงินการจับจ่ายใช้สอยจากธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ในที่ประชุม กรอ. ได้มีการเปิดโอกาสให้ทาง เอส วี แอล กรุ๊ป ได้นำเสนอแผนการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ครบวงจร เชื่อมโยงการค้าการลงทุนไปยังกลุ่ม EEC (ภาคธุรกิจด้านตะวันออก) เชื่อมโยงท่าเทียบเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง รวมถึงเชื่อมโยงไปยัง เมืองมะริด สหภาพเมียนมาเพื่อเชื่อมโยงสู่ AEC ซึ่งในที่ประชุมได้ให้ความสนใจและได้ให้ทางกลุ่มผู้ประกอบการทำแผนงานเสนอถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในเชิงเศรษฐกิจต่อทั้ง 4 จังหวัดในกลุ่มภาคกลางตอนล่าง เพื่อขอมติในที่ประชุมในการประชุม กรอ. ในครั้งต่อไป
พร้อมกันนี้ทางคณะ กรอ. ได้มีการเข้าเยี่ยมชมท่าเรือน้ำลึกประจวบ ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกเอกชนในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่สามารถรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อีกมากและสามารถเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะเชื่อมโยงสู่ EEC และ AEC ได้ต่อไปในอนาคต