ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมฉีดวัคซีน/ทำหมันให้กับสุนัขแมว ให้ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้า การสื่อสารความเสี่ยงเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อให้ประชาชนมีพฤติกรรมการป้องกันโรคที่ถูกต้องและลดความตื่นตระหนกของประชาชน โดยสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–27 มีนาคม 2561 มีผู้เสียชีวิต 6 ราย (สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยเกิดซ้ำในพื้นที่ที่เคยพบผู้ป่วย โดยเป็นผลมาจากความร่วมมือของทั้งหน่วยงานปศุสัตว์ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานสาธารณสุข
ทั้งนี้ นายแพทย์ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน อสม. และภาคประชาชน ร่วมกันสร้างความตระหนักและความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ ว่าหากถูกสุนัขและแมว กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อยก็อย่าได้ชะล่าใจ รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง ประมาณ 10 นาที หลังล้างแผลใส่ยาฆ่าเชื้อโพวิโดนไอโอดีน (เบตาดีน) เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อพิจารณาการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ถ้ารับการฉีดวัคซีนแล้วให้ไปฉีดวัคซีนให้ครบตามนัดทุกครั้ง หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ส่วนการเตรียมความพร้อมและการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศมุกดาหารได้ดำเนินการตามข้อกำหนดของกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR2005) โดยมีการ เฝ้าระวังผู้เดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างเครือข่ายด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน มีแผนงานการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างจังหวัด/อำเภอชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง