เมื่อที่โรงเรียนหันคาพิทยาคม อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท คณะครูได้จับมือกับเทศบาลตำบลห้วยงู พาเด็กมัธยมต้น ในชุมนุมซัมซุง ดิสคัฟเวอรี่คลับ ไปจัดกิจกรรมสอนผู้สูงอายุให้คุ้นเคยและรู้วิธีใช้เทคโนโลยีเพื่อสื่อสารความคิด ความรู้สึก และเชื่อมตัวเองเข้ากับสังคมออนไลน์ โดยนำอุปกรณ์จาก "ห้องเรียนแห่งอนาคต" ของ ซัมซุง อาทิ แท็บเลต สมาร์ทโฟน ไปสอนการถ่ายรูป การถ่ายวีดีโออย่างง่าย เพื่อให้คุณตาคุณยายได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่อยากเล่า รวมถึงรู้วิธีใช้ โซเชี่ยลมีเดีย เช่น ไลน์ เฟซบุ้ค ในคลาสเรียน โรงเรียนสร้างสุขผู้สูงอายุ ตำบลห้วยงู อ.หันคา จ.ชัยนาท
ที่นั่น เราได้เห็นคนสองวัย เรียนรู้ร่วมกันผ่านเทคโนโลยี คุณตาคุณยายตั้งอกตั้งใจเรียนรู้จากวิทยากรวัยเยาว์ ที่เตรียมตัวมาอย่างดี หาเทคนิคเพื่อถ่ายทอดกรรมวิธีให้คุณตาคุณยายใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้สำเร็จและมั่นใจ ผลงานภาพถ่ายและคลิป รูปดอกไม้ใบหญ้า รูปถ่ายรวมหมู่ หรือ รูปเซลฟี่หลากหลายอารมณ์ ล้วนแต่นำความชื่นบานมาสู่ทุกคน ผู้สูงอายุได้ผลงานที่ภาคภูมิใจ ชนิดนำกลับไปอวดลูกหลานที่บ้านเลยทีเดียว
"ไม่คิดว่าจะได้ทำอะไรแบบนี้ เห็นแต่ลูกหลานเขาเล่นกัน ได้ทำแล้วก็สนุกดีนะ" นางทองหลอม ใจแสน หรือยายหลอม อายุ 68 ปี เล่าให้ฟังพร้อมกับรอยยิ้มบนใบหน้าและแววตาที่บอกความสนุกสนานจากการได้ทำกิจกรรมใหม่ๆ
ขณะที่เด็กชายณภัทร สุขพล หรือน้องเอิร์ธ นักเรียนชั้น ม.3 เล่าว่า "ผมชอบที่สุดที่เห็นคนเฒ่าคนแก่เขาเซลฟี่กัน เขาบอกว่าเห็นลูกหลานถ่ายรูปกัน ก็อยากถ่ายบ้าง พอเราสอนให้เขาใช้อุปกรณ์ เขาใช้เป็นเขาก็ถ่ายเซลฟี่กัน น่ารักครับ"
โรงเรียนหันคาพิทยาคม เป็นโรงเรียนในโครงการ Samsung Smart Learning Center "ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต" โครงการเพื่อสังคม ของบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เป้าหมายคือส่งเสริมและพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 แก่เด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศ ผ่านแนวคิด 'ห้องเรียนแห่งอนาคต' นำเทคโนโลยีมากระตุ้นแรงบันดาลใจ เปิดพื้นที่การค้นหาศักยภาพตนเองเพื่อพร้อมก้าวสู่โลกอนาคต รวมถึงแบ่งปันการค้นพบของตนกับชุมชนและสังคม
ตลอดปีการศึกษาที่ผ่านมา กิจกรรมของชุมนุมซัมซุงฯ ในโรงเรียนให้ความสนใจผู้สูงอายุในหลายมิติ นอกจากกิจกรรมสอนผู้สูงอายุใช้เทคโนโลยี โรงเรียนไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เด็กๆ ได้หยิบเอาประเด็นผู้สูงอายุหลากหลายแง่มุมมาเป็นหัวข้อโครงงาน อาทิ กิจกรรมสัมภาษณ์ผู้สูงอายุชวนย้อนวัยไปตอนอายุ 15 แล้วถามว่า จะบอกตัวเองว่าอะไร หรือการศึกษาเรื่อง ชีวิตหลังเกษียณ ทั้งในมิติของการประกอบอาชีพ การทำกิจวัตรประจำวัน การออกกำลังกาย และบทบาทของผู้สูงอายุในชุมชน เป็นต้น เมื่อทำโครงงานจนจบปีการศึกษา เด็กนักเรียนก็ได้จัดงานแสดงผลงานและเชิญคุณตาคุณยายจากโรงเรียนสร้างสุขผู้สูงอายุมาร่วมชมผลงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่โรงเรียนด้วย
"การที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นโอกาสให้คนสองวัยได้เชื่อมกัน เด็กได้รู้จักวิธีพูดสื่อสารกับผู้ใหญ่ ผู้สูงวัยก็ได้มีโอกาสคุยกับเด็ก จากที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสคุยกัน ได้พูดกันมากขึ้น คนแก่เองก็ไม่เหงา เด็กเองก็ได้ทักษะชีวิต เข้าใจคนต่างวัยมากขึ้น" นางสุธาสินี รัมมะญาณ หรือครูซี หนึ่งในครูที่ปรึกษาโครงการกล่าว
"หนูว่าคุณตาคุณยายที่หนูได้พบนั้นคุยง่าย คุยสนุกเหมือนเด็กๆ ไม่ได้ช่างสั่งสอนอย่างที่คิด" เด็กหญิงวรรณา อินลี หรือน้องกลอย นักเรียนชั้น ม.2 ที่เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวถึงการทำกิจกรรมที่ทำให้ตนเปลี่ยนทัศนคติที่เคยมีต่อผู้สูงวัย
นับวัน สัดส่วนผู้สูงอายุในสังคมไทยจะยิ่งเพิ่มทวีขึ้น กิจกรรมเช่นนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้สูงวัยก้าวทันเทคโนโลยีแล้ว สิ่งสำคัญคือช่วยให้เขาสร้างสัมพันธ์กลับมาใกล้ชิดคนวัยลูกหลานทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น เข้าใจและอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นของขวัญที่ดีในวันผู้สูงอายุ ทั้งที่ อำเภอหันคา และไม่ว่าจะที่ไหน