นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆและชุมชน เพื่อซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเดิม เสริมศักยภาพแหล่งน้ำ เช่น จัดทำระบบส่งน้ำใหม่ ทำคลองส่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่มีการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสนับสนุนให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่รับประโยชน์นำแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฏีใหม่มาใช้ เพื่อลดรายจ่ายครัวเรือน เพิ่มรายได้และส่งเสริมอาชีพให้สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำระดับชุมชนตามโครงการแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังเป็นงานต่อเนื่องจากบันทึกความเข้าใจเพื่อบูรณาการร่วมกันระหว่างปิดทองหลังพระฯ กับ 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภายใต้แผนงานนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอขอรับงบประมาณกลางปี วงเงิน 190.398 ล้านบาท โดยจะนำร่องในพื้นที่ 9 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 198 โครงการ โดยมอบให้สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา
9 จังหวัดดังกล่าว ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส 60 โครงการ น่าน 44 โครงการ บุรีรัมย์ 30 โครงการ อุดรธานี 17 โครงการ ยะลา 12 โครงการ ชัยภูมิ 10 โครงการ กาฬสินธุ์ 10 โครงการ ฉะเชิงเทรา 11 และปัตตานี 4 โครงการมีประชาชนใน 47 อำเภอที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนา
"ขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมความพร้อมและได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพราะเห็นสอดคล้องกันว่าประชาชนจะได้ประโยชน์จากการมีน้ำใช้ตลอดปี จึงสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทั้ง 9 จังหวัด"
การพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆคาดว่าจะเริ่มได้ในเดือนเมษายนนี้ เนื่องจากประสบการณ์การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ส่วนราชการต่างๆ และชุมชน ทำงานร่วมกับปิดทองหลังพระฯมา จะทำให้การทำงานเป็นไปได้โดยรวดเร็ว คาดว่าโครงการส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จภายใน 50 วันและจะทะยอยเสร็จไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ปี 2561 เป็นอย่างช้า