นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า งานหัตถศิลป์ไทยเป็นงานที่มีเอกลักษณ์ มีความประณีต สวยงาม ที่สะท้อนภูมิปัญญาและวัฒนธรรมได้อย่างชัดเจนที่สุด ซึ่งแต่ละชิ้นงานนั้นต้องผ่านการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์มาจากรุ่นปู่รุ่นย่า ความพิถีพิถันของช่างฝีมือไทยนั้นจึงเป็นอัตลักษณ์ที่ชัดเจนมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งปัจจุบันงานหัตถศิลป์ไทยยังคงมีให้เห็นกันอยู่ทุกบ้าน หรือแม้กระทั่งนำมาผสมผสานกับเครื่องแต่งกายให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น
CRAFTS BANGKOK 2018 จึงเป็นงานหนึ่งที่จัดขึ้นเพื่อตอบรับความต้องการของผู้ที่รัก ในงานหัตถศิลป์หรืองานคราฟต์ ซึ่งเป็นทั้งเวทีพบปะ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทักษะฝีมือ ความชำนาญ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ของผู้ทำงานหัตถศิลป์ ทั้งจากไทยและจากต่างชาติ ให้เกิดการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ในระดับสากล ภายใต้แนวคิด "Social Craft Network" หรือ "หัตถศิลป์ไร้พรมแดน" ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญสำหรับคนทำงานหัตถกรรมในยุคนี้ที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้สื่อสารและเชื่อมโยงให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันจนเกิดการพัฒนาแนวคิด กระบวนการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเมื่อภูมิปัญญาดั้งเดิมผสมรวมกับหลากหลายการสร้างสรรค์ของนักออกแบบรุ่นใหม่ ผลลัพธ์เท่ากับงานหัตถศิลป์ไทยร่วมสมัยจะก้าวขึ้นมาเทียบชั้นงานออกแบบในเวทีสากล
ด้านนางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า CRAFTS BANGKOK 2018 จะเป็นเวทีสำหรับคนทำงานหัตถกรรมในยุคนี้ คือ การเชื่อมโยงแบบไร้ขีดจำกัด ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน เกิดการพัฒนาแนวคิดกระบวนการและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ร่วมกัน การผสมผสานในเรื่องสาขา ความเชี่ยวชาญ ภูมิประเทศ หรือ วัฒนธรรม ทำให้งานศิลปหัตถกรรมเกิด "คุณค่าร่วม" และก้าวเข้าสู่การใช้งานในยุคปัจจุบันและต่อยอดสู่อนาคตอย่างยั่งยืน โดยมีหัวใจหลัก 3 สร้าง คือ (1) สร้างเครือข่าย งานศิลป์ที่เราจะสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาต่อยอด (2) สร้างคุณค่า ปลูกจิตสำนึก สร้างความตระหนักและรับรู้ในคุณค่าของศิลปหัตถกรรมไทย และ (3) สร้างโอกาส เวทีการค้าด้วยผลิตภัณฑ์นวัตศิลป์
หัวใจหลักที่ได้กล่าวมานี้เป็นการพัฒนาและต่อยอดงานศิลปหัตถกรรม ด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ในหลากหลายมิติ เช่น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวความคิด ระหว่างผู้ผลิต ช่างฝีมือ และนักออกแบบ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบและกระบวนการผลิตงานหัตถศิลป์ในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ไทยไปสู่การใช้งานที่ร่วมสมัยในปัจจุบันและอนาคตอย่างยั่งยืน อีกทั้ง ยังเป็นเวทีที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ หรือเยาวชนไทยให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ไทยในอนาคต CRAFTS BANGKOK 2018 จึงเป็นงานที่เหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย และทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นช่างฝีมือ สไตล์ลิสต์ ภาครัฐ นักออกแบบ นักศึกษา มัณฑนากร นักการตลาด ศิลปิน ผู้ประกอบการ ตลอดจนคนรักงานคราฟต์ทุกคน ที่จะเป็นเวทีในการสร้างแรงบันดาลใจ เจรจาธุรกิจ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้งานหัตถศิลป์ และสร้างเครือข่ายงานหัตถศิลป์ให้เป็นที่ยอมรับและขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น
การจัดงาน CRAFTS BANGKOK 2018 ในครั้งนี้ จึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการ นักออกแบบ นักหัตถศิลป์ และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ กว่า 320 ร้าน และในโอกาสนี้ SACICT ได้เดินหน้าสานต่อความร่วมมือกับองค์กรหัตถกรรมระหว่างประเทศ ที่ได้ต้อนรับผู้แทนและนำผลงานจากพันธมิตรของ SACICT เช่น Korean Craft and Design Foundation (KCDF)สาธารณรัฐเกาหลี / National Taiwan Craft Research Institute (NTCRI) ไต้หวัน / ATELIER D'ART DE FRANCE ประเทศฝรั่งเศส และผลงานจาก Agency for Promotion of Indigenous Craftsประเทศภูฏาน มาจัดแสดงใน International Cooperation Area อีกด้วย
นอกจากนี้ ในวันพิธีเปิดงานยังได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง SACICT และ National Taiwan Craft Research and Development Institute – NTCRI ในการสร้างการรับรู้ในงานศิลปหัตถกรรม และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างประเทศไทยและไต้หวันในด้านต่างๆ รวมไปถึงแผนการนำ SACICT Shop ไปขยายในตลาดไต้หวันเป็นแห่งแรกภายในปีนี้ เพื่อสร้างแบรนด์หัตถกรรมไทย และแบรนด์SACICT สู่ตลาดต่างประเทศให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น
SACICT มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า งานหัตถศิลป์ของไทยมีความพร้อมเต็มที่ที่จะสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดหัตถศิลป์ หรือคราฟต์ของโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยศักยภาพของสินค้าด้านศิลปหัตถกรรมของไทย ที่มีเอกลักษณ์ มีคุณภาพ และมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติทั่วโลก ตลอดจนผู้ประกอบการ นักหัตถศิลป์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ที่มีผลงานในแนวดั้งเดิมและนวัตกรรมร่วมสมัย รวมถึงมีความสามารถและมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนางานหัตถศิลป์ใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยตลอดการจัดงานทั้ง 4 วัน คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 15,000 คน และมูลค่าการจำหน่ายและการเจรจาทางธุรกิจภายในงานจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสินค้า นวัตศิลป์ไทยเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นางอัมพวัน กล่าวสรุป
CRAFTS BANGKOK 2018 เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ ถึง 1 เมษายน 2561 ระหว่างเวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ฮอลล์ 103 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.sacict.or.th หรือ www.facebook.com/sacict หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1289