กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าเปิดศูนย์ ITC ภาคที่ 11 ดันศักยภาพอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปขานรับเศรษฐกิจยุค 4.0

พฤหัส ๒๙ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๖:๐๘
กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนแผนพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ขานรับนโยบายรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 เร่งผลักดันยกระดับนวัตกรรม SMEs สู่การผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ เตรียมเปิดศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industry Transformation Center หรือ ITC ) จ.สงขลา ดันศักยภาพอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปในภาคใต้ตอนล่าง

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) เป็นกลไกประชารัฐที่ผนึกกำลังกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ การวิจัยพัฒนา และบุคลากรระดับโลกในการเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมและสร้างสรรค์ โดยอาศัยแพลทฟอร์มที่ผลักดันให้บริษัทผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก (Global Player) รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ (LEs) ที่มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอยู่แล้วมามีส่วนร่วมในการทำให้ SMEs ขับเคลื่อนนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายใต้ระบบนิเวศอุตสาหกรรม (Ecosystem) ที่เอื้อให้เศรษฐกิจก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ไปด้วยกัน โดยศูนย์ฯ เปรียบเสมือนกับข้อต่อกลางที่จะเข้ามาช่วย SMEs ที่ไม่พร้อมในเรื่องของบุคลากรด้านวิศวกรรมที่ยังต้องสั่งสมประสบการณ์ และเครือข่ายที่สนับสนุนการผลิตให้สามารถปฏิรูปธุรกิจของตนเองผ่านกระบวนการ SME Transformation ตามแพลทฟอร์มต่างๆ ที่เหมาะสม พร้อมกันนี้ยังมีหน้าที่ในการร่วมพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยให้ไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูง โดยเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์และคัดเลือกผลิตภัณฑ์ การให้บริการทางวิศวกรรม การหาผู้รับจ้างผลิต ทำการทดสอบและรับรองมาตรฐาน การทดสอบตลาด ซึ่งเปรียบได้กับผู้ช่วยทางวิศวกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ บ่มเพาะให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาและดำเนินธุรกิจได้เอง มีการแลกเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์จากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐมาให้บริการแก่ผู้ประกอบการให้ค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง โดยที่ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องไปลงทุนเครื่องจักรก่อนที่จะได้ผลิตภัณฑ์ และยังมีความช่วยเหลือต่าง ๆ ผ่านโครงการของภาครัฐ รวมถึงสินเชื่อพิเศษต่างๆ อย่างมากมายอีกด้วย

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากมาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนวิสาหกิจชุมชน เบื้องต้น กสอ. ได้เริ่มการให้บริการไปยังศูนย์ ITC ส่วนภูมิภาคทั้ง 12 แห่งแล้ว โดยใช้โมเดลจากศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ที่กรุงเทพฯ เป็นต้นแบบ ก่อนปรับรูปแบบการให้บริการให้สอดคล้องกับศักยภาพของอุตสาหกรรมในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ 1. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป 2. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 จ.พิษณุโลก มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป การออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ 3. ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก จ.ลำปาง มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเซรามิก และที่เปิดไปล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คือ 4. ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 จ.อุบลราชธานี โดดเด่นในการให้บริการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และรูปแบบสินค้าให้ทันสมัย และขณะนี้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม Industry Transformation Center หรือศูนย์ ITC ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้มีความพร้อมในการให้บริการเป็นศูนย์ล่าสุด เพื่อให้ความช่วยเหลือ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ในการพัฒนาขบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อร่วมกันพัฒนา ส่งเสริม ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง พร้อมเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการให้ครอบคลุมทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ โอทอป ผู้สนใจทั่วไป เพื่อให้บริการพัฒนาสู่ Thailand 4.0 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายสุรชัย กลางพระเนตร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือศูนย์ ITC ภาคที่ 11 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีหน้าที่ในการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั้งหมด 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา สตูล ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส จะดำเนินงานให้บริการในเรื่องต่างๆ อาทิ การเป็นศูนย์บริการด้านข้อมูลของผู้ประกอบการ เพื่อการเชื่อมโยงจับคู่ทางธุรกิจ, การบริการให้คำปรึกษาแนะนำแก้ไขปัญหาตามประเด็นความต้องการของผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งการออกแบบ การบริหารจัดการ การจัดหาแหล่งทุนและเครื่องมือทางด้านการเงินต่างๆ, การให้บริการเครื่องมือและอุปกรณ์ ทั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพวัตถุดิบ เครื่อง 3D Printing 3D Scanning เพื่อการต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูง การให้บริการด้านวิศวกรรม การจัดหาผู้ผลิต ทำการทดสอบและรับรองมาตรฐาน การทดสอบตลาด เพื่อบ่มเพาะให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาสินค้าและดำเนินธุรกิจได้เอง โดยมีการแบ่งปันเครื่องจักรอุปกรณ์จากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐมาให้บริการแก่ผู้ประกอบการเพื่อเป็นการลดต้นทุนการประกอบกิจการ โดยล่าสุด ทางศูนย์ ITC ภาคที่ 11 ได้มีการติดตั้งเครื่องนึ่งสุญญากาศ เครื่องจักรที่ทันสมัยและเป็นเทคโนโลยีล่าสุด คือ มีการนำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ซึ่งเป็นการพัฒนาซอฟท์แวย์โดย บริษัท ฟู้ด แมชชินเนอรี่ จำกัด ผู้ออกแบบและผลิตเครื่องจักรในกระบวนการแปรรูปอาหารอันดับหนึ่งของไทย เพื่อให้บริการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาแก่ผู้ประกอบการได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เข้ามาติดตั้งและให้บริการภายในศูนย์เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ภายในพื้นที่ของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ภาคที่ 11 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ยังมีการดึงเอาหน่วยงานเครือข่ายมาร่วมดำเนินการในพื้นที่อีกด้วย ได้แก่ สถาบันอาหาร (National Food Institute) ซึ่งให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การทดสอบ ตรวจสอบคุณค่าทางโภชนาการและการปนเปื้อนต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอาหารไทย โดยเฉพาะ SMEs กลุ่ม Starup และกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัตถุดิบทางการเกษตรในท้องถิ่น รวมถึงมีทีมที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ประกอบการ หรือ SMEs ที่มีความต้องการในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สินค้าประเภทอาหารแปรรูปมากกว่า 10 ชนิด ที่มีความต้องการและสามารถผลักดันให้เป็นสินค้า OTOP ส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศได้

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดสรรงบประมาณให้สถาบันอาหารดำเนินการจัดตั้งศูนย์การออกแบบและตรวจสอบอุตสาหกรรม (สาขาอาหาร) ต้นแบบขึ้นเป็นแห่งแรกในจังหวัดสงขลา โดยได้รับการสนับสนุนด้านสถานที่ดำเนินการจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตั้งอยู่ภายในอาคารศูนย์หัตถกรรม บริเวณชั้น 2 และ ชั้น 3 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยปัจจุบัน ศูนย์ฯ มีความพร้อมในการให้บริการเต็มรูปแบบ ประกอบด้วยเครื่องมือวิจัย ทดลอง ผลิต และทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทดลองผลิตจริง ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยอาหารได้อย่างครบวงจร นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ยังให้บริการในรูปแบบ OEM Service โดยรับผลิตอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ของลูกค้าแบบครบวงจร ตั้งแต่จัดหาวัตถุดิบ และส่วนผสมต่างๆ การคิดค้น พัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ การออกแบบ และผลิต การบรรจุสินค่า ไปจนถึงการขอขึ้นทะเบียน อย. ด้วย

"ศูนย์ฯ มีเป้าหมายให้บริการผู้ประกอบการในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส คาดว่าจะสามารถให้บริการได้ปีละ 30 ราย ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเลหรือของสด ผลิตภัณฑ์อาหารในภาชนะปิดสนิทประเภทต่างๆ ผลิตภัณฑ์อาหารอบแห้ง เบเกอรี่ ผลิตภัณฑ์อาหารทอด ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทำแห้งด้วยความเย็น (freeze drying) หรือการแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มน้ำสมุนไพร โดยเน้นให้บริการด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์และพัฒนาระบบมาตรฐาน"

ด้านตัวแทนผู้ประกอบการ SMEs ใน จ.สงขลา คุณบุลภร บุญสุวรรณ เจ้าของกิจการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ข้าวต้มมัด เนินขุมทอง ซึ่งเติบโตมาจากธุรกิจร้านอาหาร ก่อนพัฒนามาเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น เจ้าของผลิตภัณฑ์สินค้าของฝาก "ข้าวต้มมัดเนินขุมทอง" ขึ้นชื่อแห่งเมืองหาดใหญ่ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของ แบรนด์ "เนินขุมทอง" เกิดจากการริเริ่มต้องการขยายธุรกิจขายขนมของฝากภายในร้านอาหารของตัวเอง โดยเริ่มจากการทำขนมจากขาย ก่อนเปลี่ยนมาเป็นการนำเอาเมนูข้าวต้มมัดไส้กล้วยของคุณแม่มาทำเป็นของฝากจนลูกค้าติดใจ จึงมีการปั้นแบรนด์ "เนินขุมทอง" อย่างจริงจัง แต่ด้วยวิธีการทำสด ทำให้ระยะเวลาในการเก็บรักษาจึงอยู่ได้ไม่นาน จึงมีการขอคำปรึกษาและทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลา ในการหาวิธีการช่วยยืดอายุด้วยวิธีการแช่แข็ง จนประสบความสำเร็จ ก่อนมีการคิดเพิ่มไส้อื่นๆ เข้ามาเพื่อสร้างความแตกต่าง โดยปัจจุบันมีไส้เผือกกวน, ถั่วกวนไข่เค็ม, ธัญพืช, กุ้ง-มะพร้าว, ใบเตย, ไก่-เห็ดหอม และมีการใส่ความเป็นใต้ลงไป คือ ไส้คั่วกลิ้งไก่ นอกจากนี้ ยังมีการทำข้าวต้มมัดข้าวเหนียวดำไส้กล้วย และข้าวต้มสามเหลี่ยมไส้ไก่หยอง-ไข่เค็ม เพื่อความหลากหลายให้ลูกค้าเลือกมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันข้ามต้มมัดเนินขุมทอง มีจำหน่ายที่เนินขุมทองการ์เด้นแล้ว ยังมีขายที่ร้านเฟิร์ส&เฟิร์น ร้านกาแฟไทยภายในสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ และร้านกาแฟอเมซอน สาขาลีการ์เด้นท์พลาซ่า

"ข้าวต้มมัดเนินขุมทองเป็นข้าวต้มมัดที่มีหลายไส้ให้เลือก รสชาติอร่อย เก็บได้นาน จึงทำเป็นที่นิยมของผู้ที่เดินทางมาหาดใหญ่นิยมซื้อรับประทานและซื้อไปเป็นของฝากเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากสถานที่จำหน่ายในปัจจุบันแล้ว เราวางแผนจะมีการขยายตลาดไปยังโมเดิร์นเทรดต่างๆ และเรายังเล็งเห็นโอกาสในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าคนไทยที่ใช้ชีวิตในต่างประเทศและคนต่างชาติที่ปัจจุบันนิยมหันมารับประทานอาหารไทยมากขึ้น โดยกลุ่มประเทศที่น่าสนใจคือประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เนเธอแลนด์ สวีเดน และประเทศทางแถบตะวันออกกลาง ซึ่งในส่วนของการขยายธุรกิจตรงนี้ ทางเราจะเข้าไปพูดคุยเพื่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ ITC ภาคที่ 11 ในการขยายธุรกิจ พร้อมทั้งการเข้าไปใช้บริการเครื่องนึ่งไอน้ำที่จะมีการติดตั้งภายในศูนย์ เพื่อทำวิจัยและพัฒนาสินค้าร่วมกัน เพื่อหาวิธีการช่วยยืดอายุของสินค้าให้ได้นานมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการเข้าไปขอคำปรึกษาจากสถาบันอาหาร ซึ่งจะมีการดึงเข้ามาอยู่ในศูนย์ ITC ภาคที่ 11 แห่งนี้ด้วย ในการเตรียมความพร้อมการขอยื่นขอตราสินค้าทั้ง ฮาลาล, อย. และเครื่องหมาย จีเอ็มอี อีกด้วย"

คุณศิรินนภา แสงทักษิณ ผู้จัดการ บริษัท หาดใหญ่แคนนิ่ง จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกลูกตาลบรรจุกระป๋องมากที่สุดในประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทเริ่มต้นจากการที่คุณพ่อเล็งเห็นว่าจังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่มีต้นตาลมากที่สุดในประเทศไทย จนได้รับสมยานามว่า "สงขลาเมืองตาลล้านต้น" จึงเป็นความคิดริเริ่มธุรกิจของคุณพ่อในการทำธุรกิจลูกตาลบรรจุกระป๋อง โดยมีผลิตภัณฑ์ลูกค้าลอยแก้วในน้ำเชื่อม ลูกตาลทอง เป็นสินค้าของฝากขึ้นชื่อของบริษัท โดยที่ผ่านมาจะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย และสิงคโปร์ ก่อนเล็งเห็นช่องทางการตลาดในประเทศไทย จนเกิดเป็นแนวคิดทำลูกตาลทองบรรจุในถุงสุญญากาศ ด้วยเครื่องแวคคั่มสุญญากาศ ซึ่งเป็นการคิดค้นและพัฒนาโดยคุณพ่อเอง เพื่อหาวิธีช่วยยืดอายุสินค้าให้อยู่ได้นานมากยิ่งขึ้น จับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชอบซื้อของฝากแต่ไม่นิยมรับประทานอาหารกระป๋อง แต่ต้องการของฝากที่สะดวกต่อการเดินทาง และรับประทานง่ายๆ ประกอบกับสินค้าของเรามีการการันตีความสดจากแหล่งวัตถุดิบ ผ่านการคัดสรรทุกชิ้น อร่อยได้คุณภาพตามมาตรฐานส่งออก และปราศจากวัตถุกันเสีย จึงทำให้สินค้าของเราได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ ITC ภาค ที่ 11 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งให้บริการครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส โดยสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ เข้ารับคำปรึกษา ตลอดจนเข้ารับบริการความช่วยเหลือต่างๆ ตามพันธกิจของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ได้ทางเว็บไซต์ www.itc11.go.th หรือ Facebook https://th-th.facebook.com/pg/dip.ipc11 หรือที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 11 ถนน กาญจนวนิช ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โทร. 074211906-8 หรือ e-mail: [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ