นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในฤดูกาลนี้เป็นช่วงออกผลผลิตของผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ราชาผลไม้ ที่มีเกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียนเข้าร่วมกว่า 3,079 ราย จำนวน 23,092 ไร่ และการเข้าร่วมโครงการเพื่อส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพดี ภายใต้ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จะเป็นส่วนสนับสนุนให้การบริหารจัดการผลผลิตทุเรียนเป็นไปอย่างมีระบบ มีคุณภาพ ได้ราคาดี โดยคาดว่า ในช่วงเดือน เม.ย.- พ.ค. จะเป็นช่วงที่ทุเรียนเริ่มให้ผลผลิตออกสู่ตลาด ด้วยแรงจูงใจจากราคาที่สูง ขายได้ราคาดีเพราะเป็นช่วงต้นฤดูกาล และทุเรียนอ่อนมีน้ำหนักผลมากกว่าทุเรียนแก่ จึงทำให้เกษตรกรและพ่อค้าตัดทุเรียนอ่อนออกมาขาย กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอประกาศเตือนให้เจ้าของสวนและพ่อค้าทุเรียนอย่าขายทุเรียนอ่อน เพราะการตัดทุเรียนอ่อนออกมาขายถือว่าผิดกฎหมายผู้บริโภค เข้าข่ายหลอกลวง มีโทษทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งส่งผลให้ราคาทุเรียนในรุ่นต่อไปตกต่ำ ถ้าพบชาวสวนหรือพ่อค้าทำผิดก็ให้ดำเนินคดีโดยเด็ดขาด
นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ให้ข้อมูลว่า ผลเสียหายที่เกิดจากการตัดทุเรียนอ่อนขายนั้น นอกจากจะเป็นปัญหาของตลาดภายในประเทศแล้ว ยังจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดส่งออก โดยในอนาคตอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า ตลาดส่งออกทุเรียนไทยจะลดลง เนื่องจากประเทศคู่แข่งของไทย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม และกัมพูชา มีการผลิตทุเรียนคุณภาพมากขึ้น และอยู่ใกล้กับประเทศจีนที่เป็นตลาดส่งออกใหญ่ของไทย ซึ่งถ้าหากเรายังตัดทุเรียนอ่อนส่งขาย ตลาดส่งออกจะลดลงแน่นอน นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้ย้ำให้เกษตรกร ควบคุมคุณภาพโดยการดำเนินการโดยการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เนื่องจากเป็นแนวทางที่ทำให้เกษตรกร ควบคุมผลผลิตกันเอง มีมาตรฐานรับรอง มีตลาดรับซื้อ ทั้งตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ
กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ป้องกัน แก้ไขปัญหาเรื่องทุเรียนอ่อน เป็นนโยบายหลัก โดยกำหนดออกเป็น 3 แนวทาง ดังนี้ 1. แนวทางเชิงรุก ด้วยการสร้างความเข้าใจและเพิ่มทักษะความรู้ให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกร การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค การสร้างทีมเกษตรกรและหน่วยรับตรวจความสุกของทุเรียนก่อนการเก็บเกี่ยว 2. แนวทางเชิงรับ ด้วยการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อสกัดกั้นทุเรียนอ่อนระดับอำเภอและระดับจังหวัด 3. การนำบทลงโทษทางกฏหมายมาบังคับใช้อย่างจริงจัง ทั้งกฏหมายอาญามาตรา 271 ผู้ใดขายโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของอันเป็นเท็จนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่น อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณา หรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดคสามเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับผู้บริโภคมีข้อสังเกตง่ายๆ ก่อนซื้อทุเรียนในช่วงนี้ คือ
1. สังเกตก้านผล ก้านผลจะแข็งและมีสีเข้มขึ้น สากมือ เมื่อจับก้านผลแล้วแกว่งผลทุเรียนจะรู้สึกว่า ก้านผลทุเรียนมีสปริงมากขึ้น ก้านผลบริเวณปากปลิงจะบวมโตเห็นรอยต่อชัดเจน
2. สังเกตหนาม ปลายหนามแห้ง มีสีน้ำตาลเข้ม เปราะและหักง่าย ดังนั้น เมื่อมองจากด้านบนของผลจะเห็นหนามเป็นสีเข้ม หนามกางออก ร่องหนามห่าง เวลาบีบหนามเข้าหากันจะรู้สึกว่ามีสปริง
3. สังเกตรอยแยกระหว่างพู ผลทุเรียนที่แก่จัดจะสังเกตเห็นรอยแยกสีน้ำตาลบนร่องพูอย่างชัดเจน ยกเว้น บางพันธุ์ที่พูปรากฏไม่เด่นชัดเช่น พันธุ์ก้านยาว
4. การชิมปลิง ผลทุเรียนแก่จัด เมื่อตัดขั้วผลหรือปลิงออกจะพบน้ำใส ซึ่งไม่ข้นเหนียวเหมือนในทุเรียนอ่อน และเมื่อชิมดูจะมีรสหวาน
5. การเคาะเปลือกหรือกรีดหนาม เมื่อเคาะเปลือกผลทุเรียนที่แก่จัดจะมีเสียงดังหลวมๆ เสียงหนักหรือเบาแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพันธุ์และอายุของต้นทุเรียน
พร้อมกันนี้กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ได้ให้เจ้าหน้าที่รายงานข้อมูลสถานการณ์การผลิตและการตลาดในฤดูกาลผลิตจากพื้นที่ทุกวัน เพื่อจะได้ทราบทิศทางและแนวโน้มของปริมาณผลผลิตและราคาจริงของเกษตรกรว่ามีปัญหา อุปสรรคเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร เพื่อหาแนวทางป้องกันและช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว